Loading
ฝึกงาน virtual technology

การเรียนรู้สารสนเทศท้องถิ่น: ฝึกงานด้านเทคโนโลยีเสมือนจริง(Virtual Technology)

การเป็นแหล่งฝึกงานหรือฝึกประสบการณ์ เป็นพันธกิจหนึ่งของสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ได้เปิดรับนักเรียนหรือนักศึกษาเพื่อฝึกงานหรือฝึกประสบการณ์ในด้านบรรณารักษศาสตร์ สารสนเทศศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การบริหารจัดการ เป็นต้น ภายใต้การดูแลและฝึกปฏิบัติโดยบุคลากรในฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายหอสมุด ฝ่ายเทคโนโลยีทางการศึกษา และสำนักงานเลขานุการ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการบริหารจัดการให้ผู้ฝึกงานได้เรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรในห้องสมุด การให้บริการของห้องสมุด การพัฒนาเว็บไซต์ การพัฒนาแอพลิเคชั่น การตัดต่อวิดีทัศน์ การใช้เครื่องมือโสตทัศนูปกรณ์ต่าง ๆ การปฏิบัติงานธุรการ ตลอดจนการสร้างสรรค์สื่อเพื่อการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น

งานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่วนงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการ พัฒนา และเผยแพร่สารสนเทศท้องถิ่นอีสานในทุกสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เช่น ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา การท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง จารีตประเพณี หรือวิถีชีวิต เป็นต้น โดยจัดหาและพัฒนาสารสนเทศในรูปแบบที่หลากหลาย ได้แก่ สิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ครอบคลุมและตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยเน้นการเข้าถึงที่สะดวก ง่าย มีข้อจำกัดน้อยที่สุด และมีความทันสมัย เพื่อให้องค์ความรู้ด้านข้อมูลท้องถิ่นแพร่หลาย คงอยู่อย่างยั่งยืน และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันยุคสมัย

การฝึกงาน virtual technology
ภาพเว็บไซต์สารสนเทศท้องถิ่นอีสาน (https://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th)

งานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีนั้น ได้มีโอกาสรับนักศึกษาเข้ามาฝึกงานหรือฝึกประสบการณ์ ซึ่งการฝึกงานแต่ละครั้งจะมุ่งเน้นเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยรูปแบบต่าง ๆ มาใช้ในการเผยแพร่และนำเสนอข้อมูลท้องถิ่น ซึ่งอาจจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศในแต่ละช่วงเวลา “เทคโนโลยีเสมือน (Virtual technology)” ก็เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยในยุคดิจิทัลที่งานข้อมูลท้องถิ่นสนใจนำมาเป็นหัวข้อหนึ่งในการฝึกงานให้แก่นักศึกษา เพราะเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่จะช่วยในการนำเสนอผลงานให้น่าสนใจและดึงดูดใจมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยตอบสนองความต้องการและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ในการนำเสนอและเข้าถึงเนื้อหาต่าง ๆ ของข้อมูลท้องถิ่นได้

ในการดำเนินงานฝึกงานสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร งานข้อมูลท้องถิ่นได้ออกแบบการฝึกงานเพื่อให้นักศึกษาได้นำเอาทักษะความรู้ความสามารถของตนออกมาประยุกต์และสร้างสรรค์ผลงานไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้สารสนเทศท้องถิ่นอีสาน ดังนี้

1. การแนะนำสารสนเทศท้องถิ่น: เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการข้อมูลท้องถิ่นอีสานในรูปแบบที่ทันสมัย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการที่มีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ รวมถึงแนวทางการพัฒนาสารสนเทศท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยีเสมือน เช่น เทคโนโลยีสามมิติ AR และ VR เพื่อการอนุรักษ์และส่งเสริมการเรียนรู้ท้องถิ่น

ฝึกงาน virtual technology
ภาพการแนะนำสารสนเทศท้องถิ่น

2. การมอบหมายภาระงานตามความถนัดและความสนใจ: โดยให้นักศึกษาทำการศึกษาและเรียนรู้ข้อมูลท้องถิ่นจากสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ รวมทั้งการสัมภาษณ์ผู้รู้ เพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงข้อมูลนั้น ๆ อย่างถ่องแท้ จากนั้นจึงนำองค์ความรู้หรือความถนัดของตนมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและสร้างสรรค์สื่อสารสนเทศด้วยเทคโนโลยีเสมือน

ฝึกงาน virtual technology
ภาพการมอบหมายภาระงานและการเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อเสริมสร้างทักษะ ความถนัดและความเชี่ยวชาญให้แก่นักศึกษา

3. การสร้างสรรค์สื่อสารสนเทศด้วยเทคโนโลยีเสมือน: นักศึกษาฝึกงานจะดำเนินการสร้างสรรค์และพัฒนาสื่อสารสนเทศท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยีเสมือน ตามหลัก PDCA (Plan-Do-Check-Act)  กล่าวคือ มีการวางแผน ดำเนินการ ติดตาม และปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษา

ฝึกงาน virtual technology
ภาพการติดตามและรายงานผลการดำเนินงานของนักศึกษาฝึกงาน

ตัวอย่างการฝึกงาน : การนำเทคโนโลยี 3D มาใช้ในการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน โดย งานข้อมูลท้องถิ่นได้มอบหมายงานให้กับนักศึกษาฝึกงานแต่ละคนจัดทำสื่อสารสนเทศ 3 มิติ (3D model) โดยใช้โปรแกรม Blender เป็นเครื่องมือในการพัฒนา 

การฝึกงาน virtual technology
ภาพการสร้างสรรค์และพัฒนาโมเดล 3 มิติ ด้วยโปรแกรม Blender

ผลงานที่ได้ :  โมเดลปราสาทผึ้งบ้านโพนทราย โมเดลเทียนพรรษาแบบโบราณ โมเดลลวดลายเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก และโมเดลลวดลายอีสาน

ฝึกงาน virtual technology
ภาพผลงานการพัฒนาโมเดล 3 มิติของนักศึกษาฝึกงาน

การรวบรวมและเผยแพร่ผลงาน : งานข้อมูลท้องถิ่นได้รวบรวมผลงานสื่อสารสนเทศ 3 มิติของนักศึกษาฝึกงานไว้บนแพลตฟอร์ม Sketchfab ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการแชร์และแสดงผลงาน 3 มิติ ซึ่งผู้ใช้สามารถอัพโหลดโมเดลสามมิติที่รองรับไฟล์ที่หลากหลายทั้ง OBJ, FBX, STL และอื่น ๆ และสามารถแสดงผลใน web browser ได้โดยตรง โดยไม่ต้องติดตั้งซอฟต์แวร์เพิ่มเติม 

การฝึกงาน virtual technology
ภาพการรวบรวมและเผยแพร่ผลงานของนักศึกษาบน Sketchfab (https://sketchfab.com/kanittha.t)

นอกจากนั้นแล้วยังได้ดำเนินการพัฒนาสารสนเทศที่เกี่ยวข้องบนเว็บไซต์ “สารสนเทศท้องถิ่นอีสาน ณ อุบลราชธานี” หัวข้อ “เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมอีสานด้วยสื่อ 3 มิติ” (https://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/esaninfo/?p=5921) เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ที่ทันสมัยแก่ผู้ใช้บริการ

ฝึกงาน virtual technology
ภาพการเผยแพร่องค์ความรู้ท้องถิ่นด้วยสื่อ 3 มิติ บนเว็บไซต์ “สารสนเทศท้องถิ่นอีสาน ณ อุบลราชธานี”

ทักษะที่คาดว่านักศึกษาจะได้รับจากการฝึกงาน

  • การใช้โปรแกรมหรือเครื่องมือสำหรับสร้างสรรค์สื่อดิจิทัลในรูปแบบที่ทันยุคสมัย
  • การวางแผนการดำเนินงานและการแก้ไขปัญหา
  • ความรู้เกี่ยวกับสารสนเทศท้องถิ่น
  • ทักษะและเทคนิคในการสื่อสารและเผยแพร่สารสนเทศ
  • การจัดการและการนำเสนอสื่อสารสนเทศท้องถิ่น

แนวทางการดำเนินงานในอนาคต: งานข้อมูลท้องถิ่นมีแผนที่จะนำเทคโนโลยีเสมือนมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและเผยแพร่สารสนเทศท้องถิ่น เช่น การสร้างพิพิธภัณฑ์เสมือน (Virtual Museum) การสร้างทัวร์เสมือน (Virtual Tour) ของสถานที่สำคัญในท้องถิ่น และการใช้เทคโนโลยี AR/VR เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ พร้อมนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกงานหรือฝึกประสบการณ์ให้แก่นักศึกษาต่อไป