คุณพ่อบำเพ็ญ ณ อุบล กล่าวว่า ตำนานที่จะเล่าให้ฟังนี้ มีการบอกเล่ากันมาในหมู่ชาวบ้านที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีเรื่องราวต่าง ๆ ดังนี้
ตำนานเมืองอุบล
มีชายคนหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่เสลภูมิ ได้พบคุณพ่อบำเพ็ญ ณ อุบล และได้เล่าตำนานเกี่ยวกับเมืองอุบลว่าตนเองได้เป็นทหารในวิกฤตการณ์ สยาม – ฝรั่งเศส และขณะนั้นเจ้านายเมืองอุบลซึ่งเป็นเชื้อของพระพรหมราชวงศา เพราะมีตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นที่พระพรหมราชวงศาหลายท่าน โดยเรื่องเดิมมีว่า
เมื่อท้าวศรีโคตรพระตะบองเสียทีแก่เมืองเวียงจันทร์ (คือ มีช้าง 100 ตัวมาบุกรุกทำลายพืชกล้าในนาของเมืองเวียงจันทร์ เจ้าเมืองเวียงจันท์จึงประกาศหาคนดีมาปราบช้าง ท้าวศรีโคตรพระตะบองรับอาสาปราบช้าง ปราบช้างได้สำเร็จพระเจ้าแผ่นดินจึงพระราชทาน “เจ้าเทวี” พระราชธิดาให้แก่ท้าวศรีโคตร แล้วสร้างเรือนหิน (ปราสาท) ให้อยู่ ) ต่อมาพระเจ้าเวียงจันท์เกรงว่าท้าวศรีโคตรจะแย่งราชบัลลังก์ จึงใช้อุบายต่าง ๆ เพื่อที่ฆ่าท้าวศรีโคตร แต่ไม่สำเร็จ เพราะท้าวศรีโคตร ฟัน แทงก็ไม่ตาย จึงคิดอุบายขึ้นโดยหลอกถามจากธิดาของตนว่า “ทำไมท้าวศรีโคตรจึงเป็นคนเก่ง และทำยังไงก็ฆ่าไม่ตาย” ธิดาไม่รู้กลในวันนั้นจึงถามท้าวศรีโคตรว่า “เจ้าพี่เป็นคนเก่ง ใครฆ่าก็ไม่ตาย น้องอยากรู้ว่าเจ้าพี่มีดีอันใด” ท้าวศรีศรีโคตรไม่รู้ถึงภัยจึงตอบว่า “เข้าทางรูเก่า (ทวาร) ก็ตายดอก” พระธิดาจึงไปเล่าให้พระบิดาฟัง พระบิดาทราบจึงทำอุบายที่จะฆ่าท้าวศรีโคตร โดยเชิญท้าวศรีศรีโคตรไปร่วมเสวยอาหารที่ท้องพระโรง และใกล้ ๆ บริเวณท้องพระโรงได้ทำห้องบังคลหนัก(ห้องถ่ายทุกข์) โดยได้วางกลคือทำยนต์หอกไว้ (คล้ายหอกอัตโนมัติ)พอเสวยเสร็จและท้าวศรีโคตรเข้าห้องบังคลหนัก ยนต์ทำงาน เมื่อเป็นไปตามแผนการที่วาง แต่ท้าวศรีโคตรไม่ตาย และท้าวศรีโคตรทราบว่าเสียรู้ผู้หญิงแล้ว จึงเหาะกลับเมืองศรีโคตร ต่อมานางเขียวค้อม (พระธิดาเจ้าเมืองพระตะบอง)คิดถึงสามีจึงตามหาสามี จนกระทั่งมาถึงแม่น้ำมูล บริเวณดงอู่ผึ้งจึงหยุดพัก และประชวรพระครรภ์ เมื่อประสูติแล้วไม่สามารถนำลูกไปด้วย จึงอธิษฐานขอฝากลูกกับเทพยดา โดยขอให้ปกปักรักษาลูก ต้นยางที่ขอได้โอนอ่อนลงมา จึงผูกอู่ไว้ที่ปลายยาง แล้วเอาแขวนทองใส่ไว้ จากนั้นต้นยางก็ตั้งขึ้นเหมือนเดิม
กาลต่อมาพระเจ้าแผ่นดินเมืองจำปาสักมาล่าสัตว์ จนกระทั่งมาถึงดงอู่ผึ้ง ได้ยินเสียงเด็กร้องไห้ที่ปลายต้นยาง ด้วยความไม่แน่ใจจึงอธิษฐานจิตว่าถ้าเป็นผีให้หนีไป ถ้าเป็นคนขอให้กิ่งต้นยางโอนลงมาจะนำไปเลี้ยงเป็นบุตร พออธิษฐานเสร็จ ต้นยางก็โอนอ่อนลงมา เห็นแหวน ผ้า เด็ก จึงนำไปเลี้ยงที่เมืองจำปาสัก เมื่อกุมารโตเป็นหนุ่ม จึงพามาตั้งเมืองให้อยู่ตรงที่พบอู่ เรียกว่า เมือง “อู่บน” กุมารนั้นให้นามว่า “เจ้าปทุม”
เจ้าปทุมเป็นลูกเจ้าศรีโคตร (เมืองพระตะบอง)และนางเขียวค้อม มีอาวุธคือไม้ค้อนตระกูลเมืองอุบล เจ้าเมืองต่อมาจึงชื่อว่า พระพรหมราชวงศา
ปัจจุบันในจังหวัดอุบลราชธานี ยังมีนางเทียม (คนทรงเจ้า) ของท้าวศรีโคตร และนางเขียวค้อม นางเทียมจะจัดการบวงสรวงทุกปี ที่บ้านนางเทียม ผู้ที่เป็นนางเทียมชื่อคุณยายขุม บ้านอยู่หน้าวัดพลแพล โดยจะมีการทำบุญประมาณเดือน 6 ตรงกับ วันที่ 12 เม.ย. ของทุกปี จะมีการเข้าทรงบวงสรวงเจ้าบ่าวจำปาที่บ้านคุณยายทองม้วน ณ อุบล (แสงอร่าม) บ้านบุ่งกระแทว (เจ้าบ่าวจำปาเป็นมเหศักดิ์ตระกูลของคุณยายทองม้วน)
ตำนาน เรื่อง นางเพานางแพง
ที่บุ่งนางเพาบุ่งนางแพง (บริเวณห้วยวังนอง ปัจจุบัน) มีเทพาอารักษ์สิงสถิตย์อยู่ในน้ำนั้น โดยเล่าว่า มีหญิงสาว 2 คนเป็นพี่น้องกันเข้ามาในเมืองอุบล เพื่อมาขอยืมฟืมทอผ้าจากผู้มีชื่อเสียงด้านการทอผ้าเก่งในเมืองอุบลฯ และเจ้าของฟืมก็ให้ยืมโดยนางเพาและนางแพงสัญญาว่าจะเอามาส่งคืนเมื่อทอผ้าเสร็จ โดยที่เจ้าของฟืมไม่ทราบว่า 2 คนพี่น้องนั้นมาจากไหน แต่เวลานั้นเป็นเวลาพลบค่ำแล้ว เจ้าของฟืมเกรงว่า 2 คนจะเป็นอันตรายตอนกลับจึงขอให้ค้างคืนที่บ้านก่อน แล้วเจ้าของฟืมก็จัดห้องให้นอน ความทราบถึงหนุ่ม ๆ ในหมู่บ้านเมื่อพบสาวงามก็จะมาเกี้ยวสาว พอถึงเวลา 2 สาวเข้านอน ตอนจวนสว่าง เจ้าหนุ่มมาแอบดูว่าสาวนอนอยู่ยังไง มองเข้าไปในห้องเห็นงู 2 ตัวนอนกอดกันอยู่ เจ้าหนุ่มก็พากันผละหนี พอตอนเช้า 2 สาวก็ลาเจ้าของฟืมกลับ เจ้าหนุ่มจึงสะกดรอยตามไปจนถึงหนองน้ำ เมื่อถึงฝั่งน้ำ 2 สาวก็เดินลงไป หายไปในน้ำจนกระทั่งทุกวันนี้ไม่ขึ้นมาอีก เลยเล่าลือกันว่า ผีบุ่งนางเพานางแพงมาขอฟืมไปทอผ้า
ตำนานเรื่อง พระปทุมกับเจ้านางตุ่ยขึ้นมาสร้างเมืองอุบล
เมื่อจะสร้างเมืองอุบล เจ้าพระปทุมคำผงกับญาแม่เฒ่าเจ้านางตุ่ย ขี่เรือกาบชัยมาจากนครจำปาสัก ล่องตามโขงเข้าปากมูล มาถึงท่าดงอู่ผึ้ง เมื่อเรือจอดที่ท่าเจ้าพระปทุมและเจ้านางตุ่ยเสด็จขึ้นฝั่ง เรือกาบชัยจึงหมุนเคว้งคว้างแล้วจมลงในน้ำมูล นางตุ่ยให้ทหารลงงมเอาเรือขึ้นมาเพราะเหตุว่าเป็นเรือประทับ หัวเรือและท้ายเรือและชั้นเรือหุ้มด้วยทองคำ แต่ทหารลงไปกี่คนก็ตายสิ้น เจ้านางตุ่ยจึงสั่งให้งดการกู้เรือ ชาวเมืองอุบลสมัยนั้นจะถือว่าเรือเป็นเทพารักษ์ทางน้ำ เมื่อถึงงานบุญข้าวประดับดิน และบุญข้าวสาก เดือนเก้าดับ (วันข้างแรม) และเดือน 10 เพ็ง ( ขึ้น 15 ค่ำ) จะมีการห่อข้าวน้อยลงไปลอยแม่น้ำมูลเพื่อบูชาดวงวิญญาณเรือ และแม่ย่านาง เป็นประเพณียึดถือกันทั่วเมือง แต่ปัจจุบันล้มเลิกไปโดยปริยาย เพราะไม่ค่อยมีใครทำห่อข้าวน้อย และพระสงฆ์ไม่ช่วยอนุรักษ์พิธีการนี้ (เฉพาะในเมือง) เพราะถือว่าทำให้รกวัด และสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ จึงไม่ค่อยมีใครทำห่อข้าวน้อยกัน ไม่ได้คิดถึงประเพณี และความเชื่อแบบเก่า
มูลเหตุที่ทำบุญข้าวประดับดิน บุญข้าวสาก
มีตำนานมาแต่ครั้งพุทธกาลว่า
มีเปรตซึ่งเป็นวิญญาณพระญาติของพระเจ้าอชาติศัตรู มาร้องขอส่วนบุญกับพระเจ้าอชาติศัตรูทำให้พระองค์รำคาญ จึงเรียกถามว่าเสียงร้องเป็นเสียงอะไร พระพุทธองค์จึงตอบว่าเป็นเสียงของเปรตซึ่งเป็นพระญาติของพระเจ้าอชาติศัตรูมาขอส่วนบุญ พระเจ้าอชาติศัตรูจึงได้ทำบุญ รวมทั้งห่อข้าวน้อยด้วย อุทิศให้ญาติที่เป็นเปรต เสียงรบกวนจึงหายไป
อีกส่วนหนึ่งชาวอีสานกล่าวกันว่า
ในวันดับเดือน 9 และวันเพ็ญเดือน 10 ยมบาล ซึ่งเป็นนายวิญญาณทั้งหลายจะปล่อยดวงวิญญาณที่ถูกคุมขังหรือรับโทษขึ้นมาพบญาติพี่น้องที่มีชีวิตเพื่อขอรับสิ่งที่เป็นเปรต ผี ชาวอีสานจึงนิยมทำห่อข้าวน้อยอีกส่วนหนึ่งไปอุทิศให้ญาติที่เป็นเปรตนั้นโดยทำข้าวห่อเล็ก โดยทำข้าวและอาหารทั้งคาวหวาน สิ่งละอันพันละน้อย ห่อในใบตองห่อหนึ่ง อีกห่อก็ใส่ไว้ในห่อนั้นมีหมาก พลู บุหรี่ และกลัดติดกัน แล้วนำไปวางไว้ตามโคนต้นไม้ข้างฐานโบสถ์ ฐานวิหารในวัดใกล้บ้าน
สำหรับข้าวประดับดินนิยมไปวางห่อข้าวน้อยเวลาตี 4 เพื่ออุทิศให้เปรตที่เป็นญาติ ส่วนข้าวสากเช่นเดียวกัน แต่นิยมไปวางเวลากลางวันก่อนเพล โดยเชื่อว่าวิญญาณของญาติจะมารับเอาสิ่งอุทิศนั้น เมื่อเปรตตนใดได้รับเครื่องพลีจะสรรเสริญให้พรแก่ญาติที่เป็นมนุษย์อยู่ให้มีความสุขความเจริญ ส่วนเปรตที่ขึ้นมาแล้วไม่ได้รับเพราะญาติไม่ทำห่อข้าวให้ เปรตนั้นจะอับอายแก่เปรตทั้งหลาย และเสียใจที่ญาติฝ่ายมนุษย์ไม่อุทิศให้ก็ร้องห่มร้องไห้ เสียใจ บางตนแช่งชักหักกระดูกให้ลูกหลานไม่มีความสุขความเจริญ ดังนั้น เพื่อให้เปรตที่เป็นญาติมีความสุขและตนเองได้รับพรจากเปรต ชาวอีสานจึงนิยมทำบุญข้าวประดับดินและข้าวสาก ด้วยความเชื่อจึงพากันทำบุญข้าวประดับดิน และข้าวสากสืบกันมา
ตำนานเกี่ยวกับ โฮงเมืองอุบล
เมื่อพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) มาสร้างเมืองอุบลฯ ได้สร้างโฮง หรือคุ้มของอาญาสี่ขึ้นเพื่อเป็นคุ้มของเจ้าเมืองอยู่ 4 คุ้ม คือ
1. คุ้มโฮงกลาง (ตำหนักหลวง) เป็นที่อยู่ของเจ้าเมือง คือพระปทุมวรราชสุริยวงศ์ ซึ่งชาวเมืองเรียกท่านว่าเจ้าหลวงหรือาชญาหลวง สร้างขึ้นใกล้วัดหลวงนั้นเรียกว่าคุ้มโฮงกลาง และสร้างกุฏิหอคำไว้ในวัด เป็นที่ประดิษฐานพระแก้ว ปัจจุบันถูกรื้อไปแล้ว
2.คุ้มโฮงเหนือ เป็นที่อยู่ของเจ้าอุปราช ตั้งอยู่บริเวณที่เป็นตลาดสด ก่อนจะเป็นตลาดสดเขาเรียกว่าจวนข้าหลวงหรือวังใหม่ ต่อมาจึงรื้อจวนผู้ว่าไปปลูกสร้างขึ้นทางทิศตะวันออกของวัดทุ่งศรีเมืองในปัจจุบัน คุ้มโฮงเหนืออยู่ติดกับถนนอุปราช
ชาวเชียงใหม่มาเที่ยวเมืองอุบลฯ ได้สอบถามผู้หลักผู้ใหญ่ในเมืองอุบลฯว่า เมืองอุบลมีเจ้าหรือไม่ ท่านผู้ใหญ่นั้นตอบว่าไม่มี ชาวเชียงใหม่จึงตอบกลับมาว่าไม่มีทำไมจึงมีถนนอุปราช ถนนราชวงศ์ ถนนราชบุตร เพราะเหตุว่าตำแหน่งอาญาสี่ซึ่งประกอบไปด้วย เจ้าเมือง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตร เป็นตำแหน่งสูงสุดของการปกครองบ้านเมือง และมีสิทธิสืบวงศ์กันได้ เมืองอุบล จึงมีเจ้าปกครองดังปรากฏในตำนานเรื่อง เจ้าพระตาเจ้าพระวอ
3. คุ้มโฮงราชบุตร (โฮงทุ่ง) บนถนนราชบุตร (บริษัทอิออน) เป็นที่อยู่ของเจ้าราชบุตรที่สำคัญคือ เจ้าราชบุตรสุ่ย เจ้าราชบุตรหนูคำ ซึ่งเป็นต้นตระกูล บุตโรบล
4. โฮงใต้ เป็นที่อยู่ของเจ้าราชวงศ์ สุดท้ายเป็นโฮงของราชบุตรท้าว ต้นตระกูลสุวรรณกูล ตั้งอยู่ที่หน้าวัดกลาง บริเวณที่เป็นถนนราชวงศ์
5. โฮงท่า เป็นที่อยู่ของพระอุบลการประชานิจ (ท้าวสิทธิสาร บุญชู) ต้นตระกูลพรมวงศานน ชาวบ้านเรียกท่านว่าญาพ่อใหญ่โฮงแพ เป็นเชื้อสายเจ้านายอาญาสี่
ตำนานเรื่อง นกหัสดีลิงค์
นกหัดสะกะไดลิง (หัสดีลิงค์) เป็นชื่อนกในป่าหิมพานต์ ชอบกินเนื้อ กินอาหาร กินช้าง กินคน มีตำนานกล่าวไว้ว่า
ในครั้งหนึ่งที่นครเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า พระเจ้านครเชียงรุ้งสวรรคต พระเทวีจึงให้วัดแห่พระศพออกไปเผาที่ทุ่งนอกเมือง พอดีขณะนั้นนกหัดสะกะไดลิงได้บินผ่านมาเห็นพระศพเข้าจึงโฉบลงมาเอาพระศพขึ้นไปเพื่อจะกิน พระเทวีให้คนกล้าหาญต่อสู้นกเพื่อเอาพระศพลงมาเผา มีหญิงสาวคนหนึ่งรับอาสา หญิงสาวคนนี้ชื่อนางสีดาเป็นบุตรของเสนาอำมาตย์ (พระยาตักกะศิลา) รับอาสาต่อสู้กับนก นางยิงนกตกลงมาพร้อมกับพระศพ พระเทวีจึงให้สร้างหอแก้วบนหลังนก แล้วเชิญพระศพขึ้นตั้งที่หอแก้ว แล้วถวายพระเพลิงเผาไปทั้งหอแก้วและนก
ต่อมาเมื่อกษัตริย์ของเมืองนี้ และลูกหลานเหลนที่มีเชื้อสายถึงแก่กรรม ชาวเมืองจึงนิยมสร้างเมรุรูปนกหัดสะดีลิงค์ประกอบหอแก้ว เชิญศพขึ้นประดิษฐาน แล้วชักลากไปเผาที่ทุ่ง จึงเป็นธรรมเนียมสำหรับเจ้านาย ที่สืบเชื้อสายสืบมาแต่โบราณ
อันเนื่องจากเมืองอุบลนั้นมีเจ้าผู้ปกครองเมืองอาญาสี่ ได้แก่ เจ้าเมือง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตร และบุตรหลานที่ได้รับราชการงานเมืองเมื่อท่านผู้ใดผู้หนึ่งถึงแก่อาสัญกรรม เจ้านายและประชาชนของเมืองอุบล จึงได้สร้างเมรุรูปนกหัดสะดีลิงค์ประกอบหอแก้วแล้วได้ชักเมรุออกไปเผา ณ ทุ่งศรีเมือง
ต่อมาเมื่อมีการส่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระเนตร พระกัณฑ์ มาปกครองเมืองอุบล จึงได้ห้ามมิให้มีประเพณีเผาศพเจ้านายแบบนกหัดสะดีลิงค์ที่ไปเผาที่ทุ่งศรีเมือง ถือว่าเป็นการเลียนแบบการถวายพระเพลิงเจ้านายที่ทุ่งสนามหลวง กรุงเทพฯ เชื้อสายเจ้าเมืองอุบลฯ หากจะทำศพแบบนกหัดสะดีลิงค์ ต้องไปทำที่วัดใดวัดหนึ่งที่เห็นสมควรการเผาศพแบบนกหัดสะดีลิงค์ ก่อนจะเผาศพจึงได้มีพิธีฆ่านกเสียก่อน ผู้ที่มีสิทธิ์ฆ่านก คือ ผู้ที่สืบสกุลมาจากพระยาตักกะศิลา และนางสีดา ซึ่งแต่ก่อนก็มีนางเทียม (คนทรง) เจ้าพ่อตักกะศิลา และเจ้านางสีดา เพื่อทรงฆ่านกโดยการยิงคันศร ปัจจุบันศรและเครื่องแต่งตัวอันเป็นเครื่องทรงของเจ้าพ่อตักกะศิลา และเจ้านางสีดายังเก็บรักษาไว้อยู่ โดยนางเทียม (คนทรง) และมีการบวงสรวงประจำปีในหน้าเดือน 6 หากจะไปดูการเข้าทรงเจ้าพ่อตักกะศิลาและเจ้านางสีดา ให้ไปชมได้ที่หลักเมือง เมืองอุบลฯ ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 7 ของทุกปี
ตำนานเกี่ยวกับ คชสีห์
อันเนื่องมาจากอาญาสี่ ที่เป็นผู้ปกครองสูงสุดของเมืองอุบลฯ เมื่อผู้ใดถึงแก่อสัญกรรม ก็มีสิทธิ์จะเชิญศพขึ้นเผาบนเมรุนกหัดสะดีลิงค์ แต่มีเมรุชั้นที่ 2 อีกอย่างหนึ่งคือ เมรุคชสีห์ สำหรับผู้ที่ถึงอสัญกรรม มีตำแหน่งรองลงมาจากเจ้าอาญาสี่ แต่เป็นผู้มีเชื้อสายสืบมาจากอาญาสี่ ไม่มีสิทธิ์นำศพขึ้นนกหัสดีลิงค์ เจ้านายและประชาชนจึงทำเมรุขึ้นอีกแบบหนึ่งเป็นรูปคชสีห์ ประกอบหอแก้ว แล้วเชิญศพขึ้นประดิษฐานบนหอแก้ว แล้วก็ชักลากไปพิธีฌาปนกิจเมรุคชสีห์ ครั้งสุดท้ายคือเมรุเผาศพพระอุบลกิจประชากร (ท้าวบุญเพ็ง บุตรโฮบล) ตำแหน่งกรรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ ใน 4 ตำแหน่ง คือ
ตำแหน่งที่ 1 พระอุบลเดชประชารักษ์ ท้าวโพธิสาส์น (เสือ) ต้นตระกูล ณ อุบล บุตรเจ้าอุปราชโท
ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง
ตำแหน่งที่ 2 พระครูอุบลศักดิ์ประชาบาล ท้าวไชยกุมาร (กุคำ สุวรรณกูล) ยกกระบัตรเมือง
ตำแหน่งที่ 3 พระอุบลการประชานิจ ท้าวสิทธิสาร บุญชูบรมวงศานนท์ เป็นตำแหน่งปลัดเมือง
ตำแหน่งที่ 4 พระอุบลกิจประชากร ตำแหน่งมหาดไทยเมือง
ตำนานเมืองอุบล เกี่ยวกับลัทธิประเพณีปกครองเมือง ประเพณี ฮีต 12 คอง 14 (สังคมศาสตร์) ที่นำมาปกครองบ้านเมือง และเป็นที่ยึดถือของประชาชนแทนกฎหมาย (กฎหมายประเพณีไม่ใช่กฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างทุกวันนี้ บ้านเมืองก็อยู่กันอย่างสงบสุข โจรผู้ร้ายไม่ค่อยมีเหมือนทุกวันนี้)
คุณพ่อบำเพ็ญ ณ อุบล ผู้เล่าเรื่อง
ที่มา: มะลิวัลย์ สินน้อย. (2546). โครงการการรวบรวมประเพณีพื้นบ้านตำนานพื้นเมือง จังหวัดอุบลราชธานี. อุบลราชธานี : สำนักวิทยบริการ