Loading
ลวดลายผ้าไหมอีสาน

ไหมสวย ลวดลายงาม

งานหัตถกรรมพื้นบ้านของภาคอีสานที่ทำสืบทอดกันมานานหลายชั่วอายุคนนั่นคือ การทอผ้า หรือ ” ต่ำหูก” ในภาษาอีสาน จากหลักฐานทางโบราณคดีบริเวณบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี พบกำไลสำริด ซึ่งเป็นอุปกรณ์การปั่นด้ายแบบง่ายๆ รวมถึงการพบลูกกลิ้งแกะลายสำหรับทำลวดลายบนผ้าเป็นจำนวนมาก ทำให้นักโบราณคดีสันนิษฐานได้ว่า ผู้คนอาศัยในบริเวณบ้านเชียงเมื่อ ประมาณ 3,000 – 4,000 ปี มาแล้ว รู้จักการปั่นด้าย ทอผ้า ย้อมสี และพิมพ์ลวดลายลงบนผ้า (สารานุกรม) การทอผ้าในภาคอีสานในอดีตถือเป็นกิจวัตรประจำวันของผู้หญิงทุกคนที่จะต้องทำนอกเหนือไปจากหน้าที่ประจำวันได้แก่ การทำนา เลี้ยงลูก ผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์และมีลักษณะเฉพาะที่เด่นที่สุดนั้นได้แก่ ผ้าทอที่เป็นผ้าไหม กับผ้าทอที่เป็นฝ้าย โดยมีกรรมวิธีการผลิตและการให้ลวดลายสีสันบนผืนผ้า แตกต่างกันไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อ วัฒนธรรมในการดำรงชีวิต และค่านิยมในสังคมที่สืบทอดกันมาจากกลุ่มชนต้นกำเนิดหลายๆ กลุ่ม ทั้งนี้ก็เนื่องจากในแถบภาคอีสานมีกลุ่มชนอาศัยอยู่หลายกลุ่ม กระจัดกระจายกันอยู่ทั่วไป กลุ่มชนที่อยู่ในเขตจังหวัดนครพนม สกลนคร และกาฬสินธุ์ เป็นกลุ่มชนที่มีเชื้อสายผู้ไทย หรือภูไท กลุ่มชนที่อยู่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด มุกดาหารหรือมหาสารคาม เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มไปทาง จำปาศักดิ์ และกลุ่มคนไทยที่มีเชื้อสายลาวนี้เองเป็นกลุ่มชนที่มีความสำคัญในการผลิตผ้าพื้นเมืองอีสาน เพราะเป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมการทอผ้า สืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน (เรณู คุปตัษเฐียร, 2534 : หน้า 1)

ผ้าทอของชาวอีสานที่มีเอกลักษณ์และลักษณะเฉพาะถิ่นเด่นที่สุดซึ่งแบ่งออกตามชนิดของวัตถุดิบมีสองชนิด คือ ผ้าฝ้ายและผ้าไหม ผ้าสองชนิดนี้ นอกเหนือไปจากการใช้วัตถุดิบที่ทอต่างกันแล้ว ยังมีเทคนิคการทอและลวดลายที่แตกต่างกันออกไปอีกมากมายหลายแบบ เช่น ผ้ามัดหมี่ ผ้าขิด ผ้าหางกระรอก ผ้าตีนจก ผ้าแพรวาเป็นต้น (วิบูลย์ ลี้สุวรรณ , 2537 : 139) ลักษณะและลวดลายการทอผ้าแต่ละแบบดังกล่าวมีลักษณะเป็นของตัวเอง หรือมีเอกลักษณ์อย่างชัดเจน

ผ้าไหม

การทำผ้าไหม มีกรรมวิธียากกว่าการทำผ้าฝ้าย นับตั้งแต่การเลี้ยงไหม ซึ่งต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้ตัวไหมถูกแสงสว่างหรือความร้อนมากไม่เช่นนั้นแล้วตัวไหมจะตาย ผ้าไหมที่นิยมทอกันมากสมัยโบราณคือ ผ้าซิ่นหมี่ ผ้าโสร่ง และผ้าขาวม้า

ลวดลายผ้าไหม

ลวดลายและสัญลักษณ์ในผ้าไทยมีมากมายบางลายก็มีชื่อเรียกสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน บางชื่อก็เป็นภาษาท้องถิ่น ไม่เป็นที่เข้าใจของคนไทยในภาคอื่น ๆ บางลายก็เป็นชื่อที่เรียกกันมาโดยไม่รู้ประวัติ รวมถึงบางลายก็มีการคิดค้นขึ้นใหม่ จึงได้ชื่อใหม่ ๆ นอกจากนี้บางลายก็เรียกชื่อตามศิลปะจิตรกรรมฝาผนังและสถาปัตยกรรม หรือบางทีก็มีกล่าวถึงในตำนานพื้นบ้าน และในวรรณคดีเป็นต้น บางลวดลายก็เป็นคติร่วมกับความเชื่อสากล และปรากฏอยู่ในศิลปะของหลายชาติ เช่น ลายขอ หรือลายก้นหอย ซึ่งนับว่าเป็นลายเก่าแก่โบราณของหลายๆ ประเทศทั่วโลก หากสังเกตและศึกษาเปรียบเทียบก็จะเข้าใจลวดลาย สัญลักษณ์  ในผ้าพื้นเมืองของไทยได้มากขึ้นและมองเห็นคุณค่าลึกซึ้งขึ้น จาการค้นคว้าพบว่าในสารานุกรมไทย ได้ให้รายละเอียดลวดลายต้นแบบ สามารแบ่งออกเป็น 4 ลาย ดังนี้

1. ลายเส้นตรงหรือเส้นขาด ในทางตรงยาวหรือทางขวาง เส้นเดียวหรือหลายเส้นขนานกัน ลายเส้นตรงทางขวางเป็นลายผ้าที่ใช้กันทั่วไปในแถบล้านนาไทยมาแล้วแต่โบราณ จะเห็นได้จากจิตรกรรมวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน และวิหารลายดี วัดพระสิงห์จังหวัดเชียงใหม่

ลายเส้นตรงทางยาวมักพบในผ้านุ่งของคนไทยกลุ่มลาวโซ่ง ลาวพวน เป็นต้น ในภาคอีสานลายเส้นตรงยาวสลับกับลายอื่นๆ จะปรากฏอยู่ในผ้ามัดหมี่ทั้งไหมและฝ้าย และบ่อยครั้งเราจะพบผ้ามัดหมี่อีสานเป็นลายเส้นต่อที่มีลักษณะเหมือนฝนตกเป็นทางยาวลงมา หรือที่ประดับอยู่ในผ้าตีนจกเป็นเส้นขาดเหมือนฝนตก หรือลายเส้นขาดขวางเหมือนเป็นทางเดินของน้ำ เป็นต้น

2. ลายฟันปลา ลายนี้ปรากฏอยู่ตามเชิงผ้าของตีนจกและผ้าขิด ตลอดจนเป็นลายเชิงของซิ่นมัดหมี่ของผ้าที่ทอในทุก ๆ ภาคของประเทศไทย ชาวบ้านทางภาคอีสานเรียกว่า “ลายเอี่ยน” ลายฟันปลา อาจจะปรากฏในลักษณะทางขวางหรือทางยาวก็ได้ บางจะพบผ้ามัดหมี่ที่ตกแต่งด้วยลายฟันปลาทั้งผืนก็มี นอกจากนี้ผ้าของชาวเขาเผ่าม้งทางภาคเหนือ จะใช้ลายฟันปลาประดับผ้าอยู่บ่อย ๆ

3. ลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนหรือลายกากบาท เกิดจากการขีดเน้นตรงทางเฉียงหลาย ๆ เส้นตัดกันทำให้เกิดกากบาท หรือตารางสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนหลายๆ รูปติดต่อกัน ลายนี้พบอยู่บนผ้าจก ผ้าขิด และผ้ามัดหมี่ โดยทั่วไปทุกภาคของไทย ในลาวและอินโดนีเซีย และบนพรมตะวันออกกลาง ยังพบบนลวดลายผ้าของชาวเขาเผ่าม้ง กระเหรี่ยง ในประเทศไทย และประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย

4. ลายขดเป็นวงเหมือนก้นหอย หรือตะขอ ลายนี้พบอยู่ทั่วไปเช่นกัน บนผ้าจก ผ้าขิด และผ้ามัดหมี่ของทุกภาค ชาวบ้านภาคเหนือและภาคอีสานเรียกว่า “ลายผักกูด” ซึ่งเป็นชื่อของพืชตระกูลเฟิร์นชนิดหนึ่งในซาราวัคของประเทศมาเลเซีย ก็เรียกว่า ลาย “ผักกูด” เช่นกัน

จากลวดลายต้นแบบข้างต้น ได้มีการพัฒนาประดิษฐ์เสริมต่อจนเป็นรูปร่างที่ชัดเจนขึ้นจนผู้ดูสามารถเข้าใจความหมายที่ต้องการสื่อได้มี 4 แบบ ดังนี้
1. จากเส้นตรง / เส้นขาด ได้มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นลายที่เกี่ยวกับน้ำและความอุดมสมบูรณ์ต่าง ๆ ในชุมชนเกษตรกรรม
2. ลายฟันปลา ได้มีการพัฒนาเป็นรูปต่าง ๆ
3. กากบาทและขนมเปียกปูน ได้มีการพัฒนาเป็นรูปลายต่าง ๆ

รูปขนมเปียกปูนภายในบรรจุรูปดาว 8 เหลี่ยม และภายในของดาว 8 เหลี่ยม มักจะมีกากบาทเส้นตรงอยู่ หรือบางทีก็ย่อลงเหลือขนมเปียกปูน กากบาทนั้นเป็นลายที่พัฒนาที่พบเห็นบ่อย ๆ ในตีนจก และขิดของล้านนา และในมัดหมี่ของภาคอีสาน นอกจากนี้ยังพบในผ้าของหลายประเทศ เชื่อกันว่าลวดลายดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์หรือโคมไฟ ในภาคอีสานเรียกลายนี้ในผ้ามัดหมี่ว่า ลายโคม

ลายนี้มีลักษณะขนมเปียกปูนผสมกับลายขอหรือขนมเปียกปูน มีขายื่นออกมา 8 ขา พบในผ้าตีนจก หรือขิด และมัดหมี่เรียกชื่อกันต่าง ๆ เช่น ลายแมงมุม หรือลายปลาหมึก บางที่ลายนี้อาจจะมีขาเพียง 4 ขา เรียกว่า ลายปู ปรากฏบนผ้ายกดอกหรือผ้ามัดหมี่ ซึ่งบางแห่งนิยมเรียกว่า ลายดอกแก้วหรือลายดอกพิกุล
4. ลายตัวขอหรือกันหอย ได้มีคนนำมาเป็นลายต่าง ๆ เช่น ลายนี้ปรากฏอยู่ทั่วไปบนผ้าจก และขิดของไทยลื้อในภาคเหนือและบนลายมัดหมี่ของภาคอีสาน มักจะเรียกว่า ลายขอ หรือขอนาคเพราะต่อๆ มาพัฒนาเป็นลายนาคเกี้ยว หรือลายนาคชูสน เป็นต้น

ลายนี้ปรากฏบนผ้าตีนจกขอบล้านนาเกือบทุกผืนผ้ามักจะเข้าใจว่าเป็นนก หรือหงส์ หรือห่าน และมักจะปรากฏอยู่เป็นคู่ ๆ โดยมีลายเหมือนฝนตกอยู่ข้างนั้น และมีลายภูเขาหรือลายน้ำไหลอยู่ข้างล่างด้วยลายนกนี้ยังปรากฏบนผ้าของไทยลื้อ เช่น ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น

ลวดลายและสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในศิลปะผ้าทอไทยนั้นเชื่อกันว่ามีความเชื่อมโยงกับคติความเชื่อของคนไทยที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เราอาจศึกษาเปรียบเทียบลวดลายสัญลักษณ์เหล่านี้กับสัญลักษณ์อย่างเดียวกันที่ปรากฏอยู่ในศิลปะประเภทอื่น ๆ เช่นในจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และแม้แต่ในตำนานพื้นบ้านที่เล่าขานสืบต่อกันมา หรือในวรรณกรรมต่าง ๆ ลวดลายที่เชื่อมโยงกับความเชื่อพื้นบ้านไทยอย่างเห็นได้ชัด มีดังนี้

สัญลักษณ์งูหรือนาค งูหรือนาคปรากฏอยู่ในลายผ้าพื้นเมืองของคนไทยกลุ่มต่าง ๆ เกือบทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะในล้านนาและอีสาน นอกจากนี้ยังพบในศิลปะของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทย ที่อาศัยอยู่นอกดินแดนของไทยในปัจจุบัน เช่น ในสิบสองปันนา ในลาว อีกด้วย

ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง คนไทยและคนลาวต่างมีความเชื่อสืบทอดกันมา เรื่องพญานาค ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองบาดาลใต้แม่น้ำโขง จนกระทั่ง ทุกวันนี้ผู้คนในแถบนั้นก็ยังเชื่อว่าเวลามีงานบุญประเพณี เช่น งานไหลเรือไฟ พญานาคก็จะขึ้นมาเล่นลูกไฟด้วย ดังที่มีผู้พบเห็นลูกไฟขึ้นจากลำน้ำในช่วงเทศกาลงานไหลเรือไฟเป็นประจำเกือบทุกปี

สัญลักษณ์นก หรือห่าน หรือหงส์  ห่านหรือหงส์เป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ปรากฏอยู่ในศิลปะผ้าทอพื้นบ้านในภาคเหนือของไทยเป็นส่วนใหญ่  นอกจากนี้ก็มีปรากฏมากในผ้าทอมือของลาวสิบสองปันนาและในหมู่พวกคนไทยในเวียดนาม

ในสถาปัตยกรรมล้านนาและล้านช้างจะพบนกหรือหงส์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญประดับอยู่บนหลังคาโบสถ์คู่กับสัญลักษณ์นาค หรือบางแห่งก็มีหงส์ประดับอยู่ตามจุดต่าง ๆ ในวัดในสิบสองปันนา สัญลักษณ์นกหริอหงส์หรือนกยูง จะปรากฏอยู่ทั่วไปทั้งในจิตรกรรม สถาปัตยกรรม และบนผืนผ้านกยูงเป็นสัญลักษณ์ที่รัฐบาลจีนปัจจุบัน ได้นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของยูนาน และได้มีการประดิษฐ์นาฏลีลาสมัยใหม่ซึ่งใช้แสดงเป็นสัญลักษณ์ของชาวไทลื้อในสิบสองปันนา เรียกว่า ระบำนกยูง

การทอลายขิด คือ การคัดเก็บยกเส้นด้ายยืนพิเศษ ให้เกิดเป็นลวดลาย แล้วสอดเส้นด้ายพุ่งไปตลอดแนวของความกว้างของหน้าผ้า ทำให้เกิดลายขิดในแต่ละแถวเป็นลายขิดสีเดียวกัน

การยก เป็นเทคนิคการทอ ยกลายให้เห็นเด่นชัด มีลักษณะคล้ายกับการทอลายขิด แต่ใช้เส้นพุ่งพิเศษ เช่น ไหม ดิ้นเงิน ดิ้นทอง มีชาย มีเชิง ซึ่งขั้นตอนยุ่งยากกว่าผ้าทอลายขิดมาก

การจก เป็นเทคนิคการทอลวดลายบนผืนผ้า ด้วยวิธีการเพิ่มด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปขณะที่ทอเป็นช่วง ๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้ากระทำโดยใช้ไม้หรือขนเม่นหรือนิ้วมือ ยกหรือจกด้วยเส้นยืนขึ้น แล้วสอดเส้นพุ่งพิเศษต่อไปตามจังหวะของลวดลาย สามารถสลับสีได้หลากหลายสี

การทอลายน้ำไหล เป็นเทคนิคการทอแบบลายขัดธรรมดา แต่ใช้ด้ายหลากสีพุ่งเกาะเกี่ยวกันเป็นช่วงๆ ให้เกิดจังหวะของลายน้ำไหล เป็นลักษณะเฉพาะของชาวเมืองน่าน เรียกกรรมวิธีการทอนี้ว่า “ล้วง” แต่ชาวไทลื้อ อำเภอเชียงของและเชียงคำ จังหวัดเชียงราย เรียกว่า “เกาะ” เทคนิคนี้อาจดัดแปลงพัฒนาเป็นลายอื่นๆ เรียกว่าลายผักแว่น ลายจรวด ฯลฯ เป็นต้น

การยกมุก เป็นเทคนิคการทอ โดยใช้เส้นยืนพิเศษเพิ่มบนกี่ทอผ้าลายยกบนผ้าเกิดจากการใช้ตะกอลอยยกด้ายยืนพิเศษ ลวดลายที่เกิดจากเทคนิคนี้คล้ายกันมากกับลวดลายที่เกิดจากเทคนิค ขิด จก แทบจะแยกไม่ได้เลยสำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องเทคนิคการทอผ้าที่ลึกซึ่ง ชาวไทยพวนที่ตำบลหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัย และที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้เทคนิคนี้ในการทอส่วนที่เป็นตัวซิ่น บางครั้งอาจจะนำเชิงซิ่นมาต่อเป็นตีนจกเรียกว่า ซิ่นมุก

การมัดหมี่ เป็นเทคนิคการมัดเส้นพุ่งหรือเส้นยืนให้เป็นลวดลายด้วยเชือกกล้วยหรือเชือกฟางก่อนนำไปย้อมสี แล้วกรอด้ายให้เรียงตามลวดลาย ร้อยใส่เชือกแล้วนำมาทอ จะได้ลายมัดหมี่ที่เป็นทางกว้างของผ้า เรียกว่า มัดหมี่ เส้นพุ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมในบ้านเรา มีการทำผ้ามัดหมี่เส้นยืนบ้างในบางจังหวัดเช่นจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ราชบุรี เพชรบุรี ส่วนใหญ่เป็นผ้าชาวเขา บางผืนใช้การทอสลับกับลายขิด ซึ่งช่วยเพิ่มความวิจิตรงดงามให้แก่ผืนผ้า

ผ้าขิด เป็นการพัฒนาการของการทอผ้าแพร ซึ่งมีวิธีการสร้างลวดลายที่ยุ่งยากมากกว่าผ้าธรรมดา จะต้องใช้เวลาและความละเอียดอ่อน ประณีตมาก ซึ่งผ้าลายขิดนั้นชาวอีสานถือเป็นของสูง อาจเนื่องมาจากการทอที่ยุ่งยากก็ได้ การใช้ผ้าชนิดนี้ก็ต้องให้เหมาะกับขนบธรรมเนียมชาวอีสานด้วย (พัฒนา กิติอาษา, 2532 : 15-16) ซึ่งมักจะใช้ในพิธีมงคลและในการใช้ผ้าขิดนั้นชาวอีสานใช้ผ้าชิดแต่งกาย เฉพาะส่วนบน ของร่างกาย เหนอเอวขึ้นไป ใช้ในพิธีมงคล ทำหมอน ผ้าคลุมไหล่ ผ้าโพกศีรษะ ตลอดจนใช้เป็นผ้ากราบพระ เนื่องจากผ้าขิดถือเป็นผลงานการทอผ้าที่ละเอียด ประณีต และมีความซับซ้อน จึงทำให้มีความเชื่อว่าเป็นงานวัดความเป็นผู้หญิงของชาวอีสานโดยเฉพาะ

ผ้ามัดหมี่ เป็นผ้าไหมที่มีลวดลายแปลกไปจากผ้าทอชนิดอื่น ๆ  การทอผ้ามัดหมี่เป็นลวดลายต่าง ๆ จะต้องเริ่มตั้งแต่การย้อมไหมให้มีสีสันเป็นลวดลายเสียก่อน แล้วจึงทอให้เกิดเป็นลวดลาย โดยใช้ไหม เส้นยืนเป็นไหมสีเดียวแล้วใช้เส้นไหมพุ่งให้มีสีสันสลับกัน เป็นลวดลายที่ต้องการ การทอผ้ามัดหมี่จึงจำเป็นต้องให้ช่างทอที่มีความสามารถ ความละเอียด ประณีตไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการทอผ้าขิด

ลวดลายผ้าไหมของจังหวัดอุบลราชธานี
ผ้าไหมมัดหมี่ของจังหวัดอุบลราชธานี มีลวดลายผ้าจำนวนมากมายหลายลายที่ แต่ละกลุ่มการทอผ้าของจังหวัด ได้คิดค้นลวดลาย ซึ่งบางลายเป็นที่ใช้ในสมัยโบราณ และบางลายเป็นการประยุกต์ขึ้น

ลายหางกระรอก ลายหอนก่องใหญ่ ลายหมี่วงในวัง ลายหมี่ขั้น หมี่ข้อลายหมี่ข้อลายหมี่ข้อ (1) ลายสร้อยดอกหมาก ลายสร้อยดอกหมาก (1) ลายลูกหวาย ลายแมงมุมเล็ก ลายแมงมุม ลายแมงปอ ลายเม็ดข้าวสาร ลายมือนาง ลายผีเสื้อ ลายปลาซิว ลายประยุกต์ ลายน้ำไหลแต่งลาย ลายน้ำไหล ลายนาคใหญ่ ลายนาคน้อยผสมดาวล้อมเดือน ลายตาแห ลายตาเม้า ลายตานาง ลายตะขอซ้อนดอกไม้ ลายดาวลูกไก่ ลายดอกหมาก ลายดอกรักเร่ ลายดอกผักแว่น ลายดอกแก้วใส่หวี ลายโซ่ ลายแซงคั่น ลายเฉลียง ลายโคมห้าหว่าน ลายโคมห้า4 ลายโคมห้า3 ลายโคมห้า2 ลายโคมห้า ลายโคมเจ็ดหว่านและหมากจับ ลายโคมเจ็ดและหมากจับ ลายขาเปียผสมโคมห้า ลายขาเปียผสม ลายขันหมากเบ็ง ลายข้อมะขามกระจับวง ลายขอทบดอกแก้ว ลายขจรน้อย ลายเกล็ดเต่า ลายเกล็ดเต่า (1) ลายกุญแจ ลายกำแพงเมืองจีน ลายกำแพงเมืองจีน (1) ลายกาบบัวสายรุ้ง ลายกาบบัวยกดอกหมี่ประยุกต์ ลายกาบบัวยกดอก ลายกาบบัวประยุกต์ ลายกาบบัวแดง ลายกอนก่อง ลายกระจับหม่อง ลายกงเก้า ลาบกาบบัวยกดอกสีฟ้า

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา: มะลิวัลย์ สินน้อย. (2547). โครงการการรวบรวมลวดลายผ้าไหมจังหวัดอุบลราชธานี. อุบลราชธานี : สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี