ตุ้ม

ตุ้ม เป็นเครื่องจักสานที่ทำด้วยไม้ไผ่ใช้สำหรับดักปลา มีลักษณะคล้ายข้อง มีงาแซงอยู่ด้านล่าง สำหรับเป็นทางให้ปลาเข้าแต่ออกไม่ได้ ด้านบนมีช่องปากสำหรับให้มือล้วงหรือเทปลาออกได้ ตุ้มมีหลายขนาดหลายลักษณะขึ้นกับสภาพของหนองน้ำหรือชนิดของปลาที่จะดัก วิธีการใช้งานตุ้มจะมีทั้งดักปลาในทางน้ำไหลและน้ำนิ่ง ถ้าวางดักในบริเวณน้ำนิ่งจะวางเหยื่อล่อปลาไว้ข้างในตุ้ม เช่น ไส้เดือน ดินเหนียวคลุกรำหรือปลวก

ตุ้มมีหลายประเภท มีชื่อเรียกตามรูปร่างของตุ้ม เช่น

  • ตุ้มลาน มีขนาดปานกลาง ที่ฐานตุ้มจะมีแผงยื่นเป็นลาน สำหรับวางเหยื่อล่อปลาด้านหน้างา ใช้ดักปลาขาว ปลาสร้อย ปลาซิว
  • ตุ้มใหญ่ มีขนาดใหญ่ ใช้ดักปลาในหนองน้ำที่มีระดับน้ำลึก 0.5-1.0 เมตร เช่น ปลาช่อน ปลาหมอ ปลาดุก
  • ตุ้มต่งปลา หรือตุ้มรองปลา คือ ตุ้มที่ใช้ดักหรือรองปลาที่ก้นหลี่ ส่วนใหญ่จะมีลักษณะทรงสูง มักสานตาถี่เหมือนตุ้มลาน มีช่องงาอยู่ตรงกลางตัวตุ้ม เพื่อเชื่อมกับก้นหลี่

หลี่ เป็นระบบจับปลาที่คนอีสานประดิษฐ์ขึ้นเพื่อดักจับหรือรองรับปลาที่มากับน้ำที่ไหลมาจากร่องน้ำ ลำธาร หรือลำห้วย เวลาหน้าน้ำหลากน้ำจะไหลแรงและปลาก็จะไหลตามน้ำมา ชาวบ้านจะทำหลี่ดักปลาทั้งหมดที่มาตามน้ำไว้ ลักษณะหลี่ด้านหน้าจะต่ำ ด้านหลังจะสูงขึ้นหรือเท่ากับระดับน้ำ ตรงท้ายหลี่จะมีตุ้มหรือที่ใส่ปลาขนาดใหญ่รองรับไว้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไหลมากับน้ำจะผ่านหลี่ทั้งหมด

โครงสร้างของหลี่ได้ถูกออกแบบให้ทนต่อแรงการไหลของน้ำ ซึ่งมีแรงปะทะของน้ำมาก หลี่จะมีประสิทธิภาพสูงจะต้องเป็นที่มีน้ำไหลแรงมาก ๆ ปลาไม่สามารถว่ายทวนน้ำได้ ปลาจะถูกน้ำดันไปรวมกันในตุ้มเก็บปลาตรงท้ายหลี่ ถ้าน้ำไหลไม่แรงปลาสามารถว่ายทวนน้ำออกไปได้หลี่ก็ใช้ไม่ได้ผล หลี่มักจะทำด้วยลำไม้ไผ่หรือไม้ไผ่สาน ขึ้นกับขนาดของหลี่

นอกจากตุ้มที่ใช้ดักปลาแล้ว ยังมีตุ้มกบ ที่ใช้สำหรับดักกบ ซึ่งมีขนาดเล็ก สานตาค่อนข้างห่าง ใช้ดักกบตามหนองน้ำ

บริจาคโดย : ประทับใจ สิกขา


จำนวน : 1 ชิ้น

ลักษณะ : แบบจำลอง สานด้วยไม้ไผ่ ลายขัด

ขนาด : ความสูงเมื่อปิดฝา 7.5 เซนติเมตร ความสูงเมื่อเปิดฝา 6.5 เซนติเมตร ปากมีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 1.5 เซนติเมตร ก้นทรงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 4.5 เซนติเมตร  ฝามีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 3 เซนติเมตร

ตุ้ม-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง ตุ้ม-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง ตุ้ม-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง


บรรณานุกรม : 

ธวัช ปุณโณทก. (2542). ตุ้ม: เครื่องดักปลา ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 1441-1444

อุทัย สุขสิงห์. (2555). การศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับประดิษฐกรรมทางเทคโนโลยีสิ่งของเครื่องใช้ในอดีตภาคอีสานตอนล่าง. อุบลราชธานี: คณะวิศวกรรมศาสตร์.