คันโซ้ (โซงโลง)

พิชญ์ สมพอง กล่าวว่า คันโซ้ (โซงโลง) บางท้องถิ่นเรียก กะโซ่ หรือ กันโซ้ หรือ คันโซ่ หรือ ข้องโซ้ เป็นเครื่องมือจักสานด้วยไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายเรือครึ่งท่อน มีด้ามยาว ชาวนาในภาคอีสานใช้วิดน้ำเข้านา หรือวิดน้ำในนาให้งวดเพื่อข้าวกล้าจะได้ไม่จมน้ำตาย หรือวิดน้ำออกเพื่อจับปลาในนา

ส่วนประกอบของคันโซ้

ตัวคันโซ้ สานด้วยไม้ไผ่ ลายที่นิยมสานคือ ลายสอง เส้นตอกตั้งและตอกสาน เหลาให้บาง สานลายสองไปให้กว้างประมาณ 40-50 เซนติเมตร ยาวประมาณ 95-100 เซนติเมตร จากนั้นก็พับหรือดัดให้เป็นรูปคล้ายเรือครึ่งท่อน ด้าน “ปากคันโซ้” ให้กว้างประมาณ 25 เซนติเมตร ด้านหางคันโซ้มีทำให้เล็กเรียวเหมือนท้ายเรือ ขนาดกว้างประมาณ 14-15 เซนติเมตร และยึดติดกับ “ด้ามคันโซ้” ด้วยหวายหลายเส้นมัดให้แน่นเพื่อเวลาวิดน้ำจะได้ไม่หลุด ขอบบนของตัวคันโซ้ให้เข้ากรอบด้วยไม้ไผ่ประกบคู่ทั้งด้านนอกด้านใน มัดให้แน่นด้วยหวาย หรือ เครือซูด ปัจจุบันนิยมใช้ลวด กลางตัวคันโซ้ใช้หวายหรือเครือซูด มัดโยงกับด้ามคันโซ้ เพื่อความแข็งแรงเวลาวิดน้ำ

ปากคันโซ้ หรือ หัวคันโซ้ เป็นไม้จริง (ส่วนมากนิยมใช้ไม้ข่อย) ขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร ปลายทั้งสองข้างเจาะรูเพื่อยึดติดกับ “คานบน” ของปากคันโซ้ซึ่งทำด้วยไม้จริงเช่นกัน ขนาดหนาประมาณ 3-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร และกลาง “คานบน” นั้นเจาะรูเพื่อยึดติดกับด้ามค้นโซ้

ด้ามคันโซ้ นิยมใช้ไม้ไผ่บง หรือไผ่ส่างไพ (ไผ่น้อย) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5-3 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 150-160 เซนติเมตร ปลายด้านหนึ่งยึดติดกับคานบนของปากคันโซ้

ประโยชน์ใช้สอย

คันโซ้ หรือ คันโซ่ ใช้วิดน้ำเข้านาหรือวิดน้ำในนาให้งวด เวลาวิด ใช้มือข้างหนึ่งจับด้ามคันโซ้เหนือตัวคันโซ้ มืออีกข้างหนึ่งจับด้ามคันโซ้ด้านปลาย ใช้ปากคันโซ้ตักลงไปในน้ำ วิดส่งน้ำไปตามทิศทางที่ต้องการ ชาวนาบางท้องที่จะใช้ไม้เสาสามขา มีเชือกหย่อนลงมามัดยึดกับด้ามคันโซ้ ตรงกลางตัวคันโซ้ เพื่อเป็นเครื่องผ่อนแรงไม่ให้ยกน้ำหนักมากคงใช้มือสองข้างจับปลายด้ามคันโซ้ บังคับทิศทางให้วิดน้ำไปยังสถานที่ที่ต้องการ ปัจจุบันนี้คันโซ้บางท้องถิ่น ตัวคันโซ้ทำด้วยสังกะสี และใช้ลวดมัดแทนหวาย หรือเครือซูด และคันโซ้นับวันจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องสูบน้ำอันเป็นเทคโนโลยีที่แพร่กระจายเข้าไปในชนบทภายหลัง


จำนวน : 1 ชิ้น

ลักษณะ : สานด้วยไม้ไผ่ลายสอง ก้นสอบเข้าหากัน ปากเปิดเป็นรูปครึ่งวงกลม ขอบปากทำด้วยไม้ ขอบบนยึดด้วยไม้ไผ่ ขอบปากสานด้วยลายขัด มีด้ามจับยาว

ขนาด : ความยาวรวมด้ามจับ 53 เซนติเมตร ความยาวตัวคันโซ่ด้านบน 21 เซนติเมตร ความยาวตัวคันโซ่ด้านก้น 17 เซนติเมตร ความสูง 17 เซนติเมตร ส่วนที่กว้างที่สุดกว้าง 10 เซนติเมตร

บริจาคโดย : ประทับใจ สิกขา

คันโซ้-คันโซ่-วิดน้ำ-เครื่องจักสาน คันโซ้-คันโซ่-วิดน้ำ-เครื่องจักสาน คันโซ้-คันโซ่-วิดน้ำ-เครื่องจักสาน คันโซ้-คันโซ่-วิดน้ำ-เครื่องจักสาน


บรรณานุกรม : 

พิชญ์ สมพอง. (2542). คันโซ้ (โซงโลง): เครื่องวิดน้ำ ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 664-665