ประจักษ์ บุญอารีย์ กล่าวว่า คุ หรือ ครุ เป็นภาชนะที่ใช้ตักและขนย้ายน้ำ ทำด้วยไม้ไผ่ ทาด้วยชันผสมน้ำมันยาง สามารถบรรจุน้ำได้ ลักษณะทั่วไปจะเป็นทรงกลมเหมือนกะต่า (ตะกร้า) และกระบุง แต่มีลักษณะเล็กกว่า ส่วนกลางป่องออกเล็กน้อยมีลักษณะคล้าย ๆ หม้อดินใส่น้ำ ขนาดบรรจุน้ำประมาณ 10-20 ลิตร ถ้าขนาดเล็กก็ทำไว้สำหรับเด็กใช้หิ้วหรือหาบน้ำ ฮวงคุ (หูหิ้ว) หรือ รวงคุ จะทำด้วยไม้ไผ่หรือเถาไม้เลื้อยประเภทที่มีความเหนียวและทนทาน มีลักษณะเหมือนฮวงกะต่าแต่หนาและสั้นกว่า คุโดยปกติจะทำเป็นคู่เพื่อใช้หาบน้ำเรียกว่า “หาบคุ” และนำมาใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น ใช้ขังปลา
การสานคุ มีลักษณะเหมือนสานกะต่า แต่การสานส่วนก้นคุจะมีลายสานเฉพาะ เรียกว่า ลายก้นคุ หรืออาจจะใช้ลายสอง ลายสาม หรือลายครุบแทนก็ได้ ส่วนปากคุจะสานด้วยลายพิเศษจะใช้ตอกสานสามเส้นพันกันเรียกว่า “ไพกม” หรือ “ไพกลม” เพื่อยึดตอกยั้ง (ตอกแนวตั้ง) ให้แน่นหนาและทาด้วยน้ำมันยางผสมชันให้หนาเป็นพิเศษ หรือประมาณ 0.5 เซนติเมตร
ส่วนฮวงคุ (หูหิ้ว) จะมีความสูงเท่ากับตัวคุ วัดจากก้นด้านในถึงขอบปากใช้ไม่ไผ่หรือเถาไม้เลื้อยบางประเภทขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-1 นิ้ว นำมาลนไฟแล้วดัดให้โค้งเท่าขนาดที่คุจะสาน ใช้เชือกผูกขึงเก็บไว้บนหิ้งเหนือเตาไฟจนอยู่ตัว เมื่อจะนำมาใช้จึงต้องเลือกขนาดให้เหมาะสมกับขนาดของคุที่สานแล้ว ใช้ส่วนโค้งยื่นลงไปในตัวคุเพื่อวัดความสูงของฮวงคุใช้มีดหมายไว้ จากจุดที่หมายของปลายฮวงทั้งสองข้าง ใช้มีดเสี้ยมด้านในแบนมีลักษณะเหมือนท้องปลิงเหลาให้แหลมและยาวพอที่จะเสียบจากปากเกือบถึงก้นคุ สามารถที่จะทนแรงยกน้ำหนักของน้ำที่บรรจุเต็มคุได้ เพื่อความมั่นคงบางคนจะป้องกันฮวงคุหลุดด้วยการเจาะเดือยยึดฮวงกับตัวคุบริเวณใกล้ปากคุด้วย
ส่วนตีนคุทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้อย่างอื่นขนาดความสูงประมาณหนึ่งนิ้ว ตอกมุมก้นคุด้านนอกสี่มุมเช่นเดียวกับกะต่า เมื่อเรียบร้อยแล้วจึงจะทาด้วยนำมันยางผสมกับชันผง ทั้งด้านนอกและด้านในหนาพอเพียงที่จะขังน้ำได้ ผึ่งลมไว้ 1-2 วัน ก็สามารถนำไปใช้ได้
คุ เป็นภาชนะที่ชาวอีสานในอดีตต้องมีไว้ใช้ในทุกครัวเรือน เพราะเป็นภาชนะที่ใช้ในการตักน้ำจากบ่อน้ำหรือแหล่งน้ำ แล้วขนย้ายด้วยการหิ้วหรือหาบเพื่อนำไปเก็บไว้ในตุ่มเพื่อการดื่มบริโภค
ชิ้นที่ 1
ขนาด : ความสูงจากฐานถึงหูหิ้ว 13 เซนติเมตร ความสูงจากฐานถึงปาก 7.5 เซนติเมตร ตัวคุสานด้วยลายขัด หูหิ้วสูง 5.5 เซนติเมตร ทำจากเครือไม้ ปากมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร ก้นสานด้วยลายสาม มีเส้นทแยงมุมยาว 7 เซนติเมตร ขาตั้งสูง 0.5 เซนติเมตร
ชิ้นที่ 2
ขนาด : ความสูงจากก้นถึงหู 43 เซนติเมตร ตัวคุสูง 24 เซนติเมตร ตัวคุสานด้วยลายขัด หูทำจากเครือไม้สูง 20 เซนติเมตร ปากมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 31 เซนติเมตร ก้นสานด้วยลายสามเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีขนาดเส้นทแยงมุม 26 เซนติเมตร ขาตั้งสูง 2 เซนติเมตร
ชิ้นที่ 3
ขนาด : ความสูงจากก้นถึงหู 45 เซนติเมตร ตัวคุสูง 24 เซนติเมตร ตัวคุสานด้วยลายขัด หูสูง 19.5 เซนติเมตร ปากมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 29 เซนติเมตร ก้นสานด้วยลายสามเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีขนาดเส้นทแยงมุม 25 เซนติเมตร ขาตั้งสูง 2 เซนติเมตร
บรรณานุกรม :
ประจักษ์ บุญอารีย์. (2542). คุ (ครุ): ภาชนะใส่น้ำ ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 733-734