พิชญ์ สมพอง (2542) กล่าวว่า บวย คือ กระบวย ชาวอีสานโบราณเกือบทุกครัวเรือนใช้ตักน้ำดื่มน้ำใช้
ส่วนประกอบของบวย
- ตัวบวย ทำจากกะลามะพร้าวแห้ง ตัดแต่งผิวให้เรียบ ขนาดของบวยใหญ่เล็กขึ้นอยู่กับขนาดของกะลามะพร้าว ขอบปากกระบวยด้านบนเจาะรูเพื่อใส่ด้ามไม้สำหรับมือจับ
- ด้ามบวย หรือ คันบวย ทำจากไม้จริงหรือไม้ไผ่ ถ้าเป็นด้ามบวยที่ใช้ตักน้ำใช้ นิยมทำคันหรือด้ามเรียบไม่แกะสลักลวดลาย แต่ถ้าเป็นด้ามบวยที่ใช้ตักน้ำดื่ม จะแกะสลักวิจิตรสวยงาม หางหรือปลายด้ามนิยมแกะสลักเป็นพระยานาคตามคติความเชื่อโบราณว่า หมายถึงความอุดมสมบูรณ์จากนาคให้น้ำ ด้ามติดกับตัวบวย จะบากใส่เข้าไปในตัวบวย และทำให้แน่นไม่ให้หลุดเลื่อนด้วยการใส่ “ไล” (ลูกสลัก) เล็ก ๆ
บวย หรือกระบวยปัจจุบันนี้ ชาวบ้านอีสานใช้น้อยลง ส่วนมากหันไปใช้ขันพลาสติก หรือขันอะลูมิเนียมแทน
จำนวน : 1 ชิ้น
ลักษณะ : ตัวกระบวยทำด้วยกะลามะพร้าว ด้ามจับทำด้วยไม้
ขนาด : ความยาวทั้งหมด 47 เซนติเมตร ด้ามยาว 33.5 เซนติเมตร กระบวยสูง 9 เซนติเมตร ปากกระบวยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12.5 เซนติเมตร ตรึงด้ามกับกะลามะพร้าวด้วยตะปู
บรรณานุกรม :
พิชญ์ สมพอง. 2542. บวย (กระบวย) : ภาชนะตักน้ำ ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 2223