ธวัช ปุณโณทก กล่าวว่า มวย คือ หวดนึ่งข้าวเหนียวที่ทำด้วยไม้ไผ่สานเป็นรูปทรงกระบอก (ไม้ไผ่สานอีกแบบหนึ่งทำเป็นทรงกรวยสามเหลี่ยม ใช้สำหรับนึ่งข้าวเหนียวเช่นเดียวกัน เรียกว่า หวด) มวยนึ่งข้าวเหนียวนิยมใช้กันมากในจังหวัดที่ติดชายฝั่งแม่น้ำโขง นับตั้งแต่จังหวัดเลย หนองคาย อุดรธานี นครพนม และสกลนคร (ในปัจจุบันได้นิยมใช้ทั่วไปในภาคอีสาน ร่วมกับหวดไม้ไผ่สานรูปทรงกรวยสามเหลี่ยม)
ลักษณะของมวย
มวย นิยมสานด้วยลายสอง ไม่นิยมสานลานขัดเพราะแต่งรูปทรงให้ก้นสอบได้ยาก ลายสองจะจัดรูปทรงส่วนก้นมวยให้สอบเล็กลงได้ง่ายกว่า ลายขัดจะสานตอนใกล้ ๆ กับขอบปากมวย แต่ปัจจุบันมีการสานหลายลายผสมผสานกันเพื่อความสวยงาม
ส่วนก้นมวยส่วนใหญ่จะสานด้วยลายขัดห่าง ๆ เหมือนตะแกรง เพื่อที่จะให้น้ำและไอน้ำผ่านไปถึงข้าวเหนียวได้ ทำให้ข้าวเหนียวสุก และจะใช้ไม้ไผ่ขนาดนิ้วก้อยขัดไว้ที่ก้นมวย เป็นรูปกากบาทเพื่อรับน้ำหนักด้วย ทั้งนี้ก็มีการใช้วัสดุอื่น ๆ ทำเป็นก้นมวยด้วย เช่น ใยบวบ ตะแกรง เป็นต้น
ส่วนขอบปากและขอบก้นมวย จะใช้ไม้ไผ่ขนาดกว้างประมาณ 1 นิ้ว หนาพอสมควรขดเป็นขอบปากมวยและก้นมวย ใช้หวายผูกมัดให้แน่น เพื่อความแข็งแรงทั้งส่วนของขอบปากมวยและก้นมวย
วิธีการใช้มวย
นำมวยใส่ข้าวเหนียวที่แช่น้ำไว้แล้วประมาณ 6 ชั่วโมง (เรียกว่า หม่าข้าว หรือข้าวหม่า) ไปวางไว้บนหม้อต้มน้ำ (ปัจจุบันนิยมใช้หม้ออะลูมิเนียม มากกว่าหม้อดินเผา) ใช้ฝาปิดบนข้าว ทิ้งไว้ให้ไอน้ำเดือดผ่านขึ้นมาระยะหนึ่งประมาณ 20-30 นาที ข้าวเหนียวจะสุกใช้รับประทานได้
ชิ้นที่ 1
ลักษณะ : สานด้วยไม้ไผ่ ขอบบนและขอบล่างทำด้วยไม้ไผ่ ก้นสานลายสองห่าง ๆ ให้ไอน้ำสามารถทะลุผ่านได้
ขนาด : ความสูง 12.5 เซนติเมตร ก้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 7.5 เซนติเมตร ปากมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 11.0 ซม.
ชิ้นที่ 2
ลักษณะ : สานด้วยไม้ไผ่ 2 ชั้น ลายด้านนอกประกอบด้วย 2 ลาย คือ ลายด้านบนสานด้วยลายขัด ขนาดตอกกว้าง 0.4 เซนติเมตร ลายด้านล่างสานด้วยลายสอง ขนาดตอกกว้าง 0.6 เซนติเมตร ลายสานด้านในของมวย สานด้วยลายสอง ใช้ตอกขนาด 1.7 เซนติเมตร
ขนาด : ความสูง 25.5 เซนติเมตร ปากมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 24.5 เซนติเมตร ก้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 15 เซนติเมตร มีที่รองก้นมวยสานด้วยลายขัดเป็นวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 14.5 เซนติเมตร มีจุกตรงกลางสูง 8 เซนติเมตร ขอบปากทำด้วยติวไม้ไผ่ มีหู 1 ข้าง ที่รองก้นสามารถถอดออกได้
ชิ้นที่ 3
ลักษณะ : สานด้วยไม้ไผ่ ลายสอง
ขนาด : ความสูง 28 เซนติเมตร เส้นรอบวงตัว 78 เซนติเมตรเส้นรอบวงก้น 45.5 เซนติเมตร ปากมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 24 เซนติเมตร ก้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 14.5 เซนติเมตร ตอกสานด้านล่างขนาด 0.5 เซนติเมตร ตอกสานด้านบนขนาด 1 เซนติเมตร ขอบปากและขอบก้นทำด้วยไม้ไผ่ ตรึงขอบด้วยลวด ที่รองก้นสานเป็นตะแกรงลายขัด ใช้ตอกขนาด 0.7 เซนติเมตร ไม่สามารถถอดออกได้
ชิ้นที่ 4
ลักษณะ : สานด้วยไม้ไผ่ 2 ชั้น ลวดลายของมวยแบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนก้นสานด้วยลายสองเวียน ใช้ตอกขนาด 0.3 เซนติเมตร ส่วนกลางสานด้วยลายสองยืนใช้ตอกขนาด 0.4 เซนติเมตรและส่วนบนสานด้วยลายขัด ใช้ตอกขนาด 0.2 เซนติเมตร ด้านในสานเป็นลายสองเวียนที่รองก้นเป็นตะแกรงไม้ไผ่สานด้วยลายขัด เสริมด้วยตาข่ายในล่อน ไม่สามารถถอดออกได้ และเสริมความแข็งแรงด้วยลวด ขอบก้นและขอบปากทำจากไม้ไผ่มัดด้วยหวาย
ขนาด : ความสูง 28 เซนติเมตร ปากมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 26.5 เซนติเมตร ก้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 14 เซนติเมตร
บรรณานุกรม :
ธวัช ปุณโณทก. (2542). มวย (หวดนึ่งข้าวไม้ไผ่สาน) ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 3473-3474