พิชญ์ สมพอง กล่าวว่า ก่องข้าว (กล่องข้าว) บางท้องถิ่นเรียก กะติบข้าว เป็นภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่สำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่ง มีฝาปิดสอบเข้าไปยังศูนย์กลาง และมีขาตั้งเป็นรูปกากบาท ข้อแตกต่างระหว่างกะติบข้าวและก่องข้าวคือ ฐานหรือขาตั้ง กระติบข้าวจะมีฐานกลม ก่องข้าวจะมีฐานทำด้วยไม้รูปกากบาท ฝากะติบข้าวจะเป็นรูปทรงกระบอกหน้าตัดส่วนฝาก่องข้าวเป็นรูปกรวย
ส่วนประกอบของก่องข้าว
ตัวก่อง สานด้วยไม้ไผ่ลายขัด (ยกเส้นข่มเส้น) สานให้เป็นกล่องกลมขนาดใหญ่เล็กตามความต้องการ เป็นรูปคล้ายดอกบัว แต่ขอบสูงขึ้นไปเหมือนโถ ซ้อนกัน 2 ชั้น เพื่อให้เก็บความร้อนได้ดี ตอกตั้งให้วางถี่ เพื่อความแข็งแรงทนทาน ที่ปากก่องมีหูขนาดเล็กถักด้วยหวายสำหรับร้อยเชือก เพื่อหิ้วหรือแขวนได้สะดวก
ฝาก่อง สานด้วยไม้ไผ่เป็นรูปคล้ายกรวย นิยมสานด้วยลายสามล้มออก (ลายสานที่ยกสามข่มสามถ่างออก) หุ้มปลายฝาก่องด้วยไม้เนื้ออ่อน นิยมใช้ไม้ข่อยหรือก้านของใบตาล ขนาดหน้ากว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ผูกไม้หุ้มติดกับฝาก่องด้วยหวาย ที่ฝาก่องทำหูขนาดเล็กถักด้วยหวายสำหรับร้อยเชือกเพื่อความสะดวกในการแขวนหรือหิ้ว
ตีนก่อง (ฐาน) หรือขาตั้ง ทำด้วยไม้เนื้อแข็งตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู 2 อันขนาดกว้างยาวพอประมาณกับตัวก่อง นำมาประกอบกันเข้าเป็นรูปกากบาท ผูกติดยึดกับตัวก่องด้วยหวาย ที่ฐานนี้บางที่ก็แกะเป็นลวดลายเพื่อความสวยงามไปด้วย
ประทับใจ สิกขา กล่าวว่า การสานก่องข้าวจะสานโครงชั้นในก่อนด้วยลายสองที่ก้นเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเพื่อให้เกิดมุมสี่มุมสำหรับผูกกับไม้กากบาทที่เป็นฐานได้สะดวกเสร็จแล้วจึงสานส่วนต่อขึ้นมาเป็นตัวก่องข้าวด้วยลายขัด ภาษาถิ่นเรียก “ลายกราว” โดยใช้ตอกตะแคงเส้นเล็ก ๆ จนได้ขนาดตามต้องการแล้วจึงสานตัวก่องข้าวด้านนอกครอบอีกชั้นหนึ่งด้วยตอกปื้นเป็นลายสองยืน หรือลายสองเวียนเพื่อให้เกิดความสวยงาม โดยที่ตัวก่องข้าวที่สานหุ้มนี้จะสานให้ใหญ่กว่าตัวแบบภายใน แล้วพับปากก่องข้าวหุ้มกลับเข้าไปภายในเพื่อความเรียบร้อยอีกครั้งหนึ่ง ใช้เส้นหวายผูกคาดไว้ภายนอกเพื่อรับขอบของส่วนฝาไปในตัว
เมื่อได้ตัวก่องข้าวแล้วจึงทำฐานในผายออกรับกับรูปทรงของก่องข้าวด้วยไม้ ฐานนี้จะผูกติดกับส่วนก้นสี่มุมด้วยหวาย ฐานหรือก้นที่ทำด้วยไม้กากบาท เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ก่องข้าวตั้งได้ดีไม่ล้มง่าย จากนั้นจึงสานฝา ซึ่งมักจะสานด้วยตอกปื้นค่อนข้างใหญ่เป็นลายเฉลวหรือลายตาข่าย หรือลายตาเข่ง โดยสานเป็นรูปคล้ายฝาชี ส่วนที่ขอบของฝาจะใช้ก้านตาลทำเป็นแผ่นโค้งเข้าขอบเพื่อความคงทน ทำหูสำหรับร้อยเชือกเพื่อใช้สะพายบ่าหรือใช้แขวนได้
ชิ้นที่ 1
ขนาด : ความสูง 9.5 เซนติเมตร ความสูงจากฐานถึงปาก 6.8 เซนติเมตร ปากมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 5.5 เซนติเมตร ฐานหรือขาสูง 2.4 เซนติเมตร ฝาสูง 3.5 เซนติเมตร ฝามีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 6 เซนติเมตร ขอบฝาทำด้วยก้านตาล ร้อยหูด้วยเชือกไนล่อน
ชิ้นที่ 2
ขนาด : ความสูงจากฐานถึงยอด 20.5 เซนติเมตร ความสูงจากฐานถึงปาก 14.3 เซนติเมตร ฐานสูง 4.7 เซนติเมตร ฐานกว้าง 13 เซนติเมตร ปากมีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 12 เซนติเมตร ฝามีความสูง 8.5 เซนติเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 13 เซนติเมตร ขอบปากทำจากก้านตาล ก้นสานด้วยลายสอง มีหูที่ตัวก่องข้าว 2 หูและหูที่ฝา 2 หู
ชิ้นที่ 3
ขนาด : ความสูงจากฐานถึงยอด 16 เซนติเมตร ความสูงจากฐานถึงปาก 11.5 เซนติเมตร ฐานสูง 2 เซนติเมตร กว้าง 10 เซนติเมตร ปากมีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 8.2 เซนติเมตร ฝาทรงฝาชีสูง 6 เซนติเมตร ขอบสูง 2 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 8.2 เซนติเมตร ฝาสานด้วยลายสอง ตัวก่องข้าวสานด้วยลายขัด ก้นสานด้วยลายขัด
ชิ้นที่ 4
ขนาด : ความสูงจากฐานถึงยอด 40 เซนติเมตร ตัวก่องข้าวสูง 19 เซนติเมตร ปากมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 23 เซนติเมตร ขอบปากทำด้วยหวาย ร้อยเข้ากับตัวก่องข้าวด้วยหวายรอบปาก ฐานทำด้วยไม้มี 4 แฉก สูง 11 เซนติเมตร ยาว 31 เซนติเมตร หนา 1.5 เซนติเมตร ยึดขาทั้ง 4 แฉกกับตัวก่องข้าวด้วยหวาย ฝาเป็นรูปทรงฝาชี สูง 13 เซนติเมตร ขอบฝาทำด้วยก้านตาลสูง 5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางยาว 26 เซนติเมตร สานด้วยลายตาเหลว ก้นสานด้วยลายสอง ใช้ตอกขนาด 0.7-0.8 เซนติเมตร มีหู 2 ข้าง ทำจากหวาย ร้อยด้วยเชือก
บรรณานุกรม :
ประทับใจ สิกขา. (2546). รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมโครงการรวบรวมข้อมูลงานหัตถกรรมเครื่องจักสานไม้ไผ่และหวาย. อุบลราชธานี : คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ.
พิชญ์ สมพอง. (2542). ก่องข้าว: ภาชนะใส่ข้าว ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 109