ประทับใจ สิกขา กล่าวว่า กระติบข้าว เป็นงานหัตถกรรมเครื่องจักสานที่มีใช้กันทั่วไปในภาคอีสาน ส่วนใหญ่จะสานจากตอกไม้ไผ่ที่เหลาให้แบนและบาง ซึ่งจะเป็นตอกอ่อน ๆ โดยจะสานเป็นรูปทรงกระบอกให้มีความยาวเป็นสองเท่าของตัวกระติบ เสร็จแล้วจะต้องพับทบกลับส่วนหนึ่งไว้ด้านใน การสานลายด้านในและด้านนอกจะแตกต่างกัน คือ ส่วนที่จะพับทบกลับไว้ด้านในจะสานด้วยลายอำเวียน ส่วนด้านนอกที่ต้องการความสวยงามจะสานด้วยลายสองยืน หรือยกดอกเพื่อความสวยงาม ส่วนก้นจะสานเป็นแผ่นกลม ๆ ต่างหาก แล้วนำมาผนึกติดกับตัวกระติบภายหลัง ส่วนฝากระติบก็จะทำเช่นเดียวกับตัวกระติบ กระติบบางอันจะใช้ก้านตาลขดเป็นวงทำเป็นฐานหรือขาตั้ง และเพื่อให้แข็งแรงคงทน แต่ถ้าเป็นกระติบขนาดเล็ก ๆ อาจจะไม่มีฐานก็ได้ ทำหูติดที่ฐานและฝากระติบ เพื่อร้อยสายให้สะพายไปมาได้สะดวก การสานกระติบอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่ใช้ประโยชน์เหมือนกันคือ ใส่ข้าวเหนียวที่นึ่งแล้ว ใส่เมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ เป็นต้น กระติบข้าวที่สานด้วยไม้ไผ่จะมีน้ำหนักเบาและระบายอากาศได้ดีทำให้ไอน้ำระเหยออกไปได้ ซึ่งจะทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุอยู่ภายในยังมีความร้อนและข้าวไม่แฉะด้วยไอน้ำ
ลักษณะ : สานด้วยไม้ไผ่ ตัวกระติบสานด้วยลายสองยืน ลายสองนอน ฝาสานด้วยลายตาเหลว
ขนาด : ความสูง 9 เซนติเมตร ฐานทำด้วยก้านตาล สูง 2 เซนติเมตร ความสูงจากฐาน-ปาก 8.5 เซนติเมตร ปากมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 5.3 เซนติเมตร ฝาสูง 6 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางยาว 6 เซนติเมตร
บริจาคโดย : ประทับใจ สิกขา
บรรณานุกรม :
ประทับใจ สิกขา. (2546). รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมโครงการรวบรวมข้อมูลงานหัตถกรรมเครื่องจักสานไม้ไผ่และหวาย. อุบลราชธานี : คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ.