บ้านเชียงเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นแหล่งโบราณคดีที่เก่าแก่และสำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ จากการขุดพบโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่พิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์ได้ว่า ดินแดนแถบเอเชียอาคเนย์เป็นแหล่งที่มีมนุษย์ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่อย่างต่อเนื่อง จากยุคหินสู่ยุคสำริด จากสังคมบรรพกาล (เร่ร่อนล่าสัตว์) ผ่านมาสู่สังคมเกษตรกรรมมีการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ (ภาชนะดินเผาเขียนสีแดง) ด้วยกรรมวิธีชั้นสูง โดยเฉพาะรู้จักผลิตสำริดมาเป็นเวลานานถึง 4000 ปีมาแล้ว (ธวัช ปุณโณทก, 2542)
วัฒนธรรมบ้านเชียงนั้นครอบคลุมหลายพื้นที่ในภาคอีสาน ทั้งในเขตจังหวัดอุดรธานี สกลนคร นครพนม และขอนแก่น โบราณวัตถุที่พบมากที่สุดได้แก่ ภาชนะดินเผา รองลงมาคือ เครื่องประดับและขวานสำริด นอกจากนั้นยังพบโครงกระดูกของมนุษย์และสัตว์อีกด้วย
ภาชนะดินเผาหรือเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงนั้น มีเอกลักษณ์ที่รูปแบบและลวดลาย รูปแบบภาชนะที่พบ ได้แก่ ภาชนะก้นกลมปากแตรไม่มีเชิง ภาชนะก้นกลมมีขอบปาก ภาชนะหักมุมแหลมที่ก้น ภาชนะทรงสูงปากแตรหรือมีขอบปากและมีเชิง
ลักษณะเด่นของลวดลายเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงคือ ลายเขียนสีที่มีเส้นโค้งอ่อนช้อย แสดงอาการเคลื่อนไหวตลอดเวลา การเขียนลายเส้นที่ต่อเนื่องไม่ขาดช่วงและแทรกด้วยลวดลายอิสระ ลวดลายส่วนใหญ่ที่เขียน ได้แก่ ลายก้นหอยที่วนออกหรือเข้าจากศูนย์กลาง ลายก้นหอยมีก้านต่อกัน ลายรูปประแจจีน ลายแบบขอเกี่ยวกัน ลายรูปตัวเอสในวงกลม วงรีหรือรูปไข่ ลายโค้งแบบลูกคลื่น วิธีการสร้างลวดลายของภาชนะดินเผามีหลายแบบ ได้แก่ การทำเป็นร่องบนภาชนะด้วยวิธีการขูด ขีด ขุด สัก หรือกลิ้งลาย การปั้นแปะ และการเขียนสีซึ่งมักจะเขียนด้วยสีแดง
เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมบ้านเชียงถูกนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาของบ้านเชียงในยุคปัจจุบันทั้งรูปแบบและลวดลาย เพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้ไปศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเป็นอย่างมาก อย่างเช่นบ้านคำอ้อ ที่เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาแห่งหนึ่ง ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาของที่นี่จะเขียนลวดลายและการลงสีเลียนแบบลวดลายดั้งเดิมของภาชนะดินเผาที่ขุดพบในแหล่งโบราณคดี และอีกส่วนหนึ่งก็ได้เขียนลวดลายตามแบบที่ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงกำหนดไว้ มีการปรับปรุงวิธีการเขียนสีให้เกาะติดกับภาชนะที่คงทนถาวรมากขึ้นโดยการผสมกาวลงไปเล็กน้อย สีแดงหรือสีน้ำตาลที่ใช้ในการเขียนสีนั้น ได้จากสีของหินลูกรัง ซึ่งมีลักษณะคล้ายก้อนดินแต่มีสีแดง เรียกว่า ตับหิน เมื่อนำมาบดให้ละเอียดแล้วนำไปกรองด้วยผ้าจะได้ฝุ่นสีแดงหรือน้ำตาลแดง นำไปใช้สำหรับการเขียนลวดลาย
จำนวน : 5 ชิ้น
ผู้บริจาค : ผศ.ดร.ประทับใจ สิกขา
ชิ้นที่ 1
ลักษณะ : ภาชนะก้นกลม ปากแตร ผิวเรียบ เขียนลายสีแดง
ขนาด : ความสูง 29 เซนติเมตร ปากแตรมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10.5 เซนติเมตร เส้นรอบวงภาชนะ 40.5 เซนติเมตร เส้นรอบวงคอ 20.5 เซนติเมตร ขาสูง 7 เซนติเมตร
ชิ้นที่ 2
ลักษณะ : ภาชนะก้นแหลม มีขอบปากสูง ผิวเรียบ เขียนลายน้ำวน
ขนาด : ความสูง 22.5 เซนติเมตร ความสูงจากก้นถึงคอ 19 เซนติเมตร ปากกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 17 เซนติเมตร เส้นรอบวงคอ 39 เซนติเมตร เส้นรอบวงตัวภาชนะ 58.5 เซนติเมตร ขาสูง 8.5 เซนติเมตร
ชิ้นที่ 3
ลักษณะ : ภาชนะหักมุมแหลมส่วนก้น มีขอบปาก ผิวเรียบ ไม่มีลวดลาย
ขนาด : ความสูง 19 เซนติเมตร เส้นรอบวงบริเวณที่หักมุม 58 เซนติเมตร เส้นรอบวงคอ 37.5 เซนติเมตร ปากกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 13.5 เซนติเมตร ขาตั้งสูง 8.5 เซนติเมตร
ชิ้นที่ 4
ลักษณะ : ภาชนะก้นแหลม ปากแตร ผิวเรียบ ไม่มีลวดลาย
ขนาด : ความสูง 21.5 เซนติเมตร เส้นรอบวงยาว 46 เซนติเมตร เส้นรอบวงคอ 25.5 เซนติเมตร ปากมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 เซนติเมตร ขาตั้งสูง 8.5 เซนติเมตร
ชิ้นที่ 5
ลักษณะ : ภาชนะหักมุมแหลมส่วนก้น มีขอบปาก ผิวเรียบ เขียนลายสีแดง
ขนาด : ความสูง 19 เซนติเมตร เส้นรอบวงยาว 59.5 เซนติเมตร เส้นรอบวงคอ 35.5 เซนติเมตร ปากกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 13 เซนติเมตร ขาตั้งสูง 8.3 เซนติเมตร
บรรณานุกรม :
ธวัช ปุณโณทก. (2542). วัฒนธรรมบ้านเชียง ในในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 7. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 2323-2331
พเยาว์ เข็มนาค. (2542). บ้านเชียง : ลวดลายบนภาชนะ ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 7. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 2315-2323
ยงยุทธ ขาวโกมล. (2542). บ้านคำอ้อ: เครื่องปั้นดินเผา ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 7. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 2302-2306