เครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นงานหัตถกรรมที่ยังคงกรรมวิธีการทำด้วยวิธีดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ ด้วยเทคนิควิธีที่เรียกว่า “ขี้ผึ้งหาย” ยังคงรูปแบบและลวดลายแบบโบราณ ผลิตภัณฑ์เครื่องทองเหลืองของบ้านปะอาวมีทั้งเครื่องใช้ เครื่องประดับ และของที่ระลึก เช่น ระฆัง ผอบ กระดิ่ง กระพรวน โบกปูน เชี่ยนหมาก ขัน พาน ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์และมีเพียงชิ้นเดียวในโลก
เรียนรู้วิธีการและขั้นตอนการทำเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว
กระดิ่ง หรือ กะดิง นี้ สำเร็จ คำโมง (2542) กล่าวว่า บางท้องถิ่นเรียก หมากกระดิ่ง คือ ชื่อเรียกกระดึงขนาดเล็ก ใช้ผูกคอสัตว์ มีรูปทรงสัณฐานเป็นกระดึงโลหะปากกลม และผายออกจากขั้วก้น มีลูกตีแขวนอยู่ในปาก ชาวอีสานจะใช้กระดิ่งผูกคอสัตว์เลี้ยงมาตั้งแต่ครั้งโบราณ ตัวกระดิงหล่อด้วยโลหะทองแดงผสมตะกั่ว ทองเหลือง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-5 เซนติเมตร ลึกหรือสูง ประมาณ 4-5 เซนติเมตร มีลูกตีแขวนอยู่ในปากเป็นแท่งกลมขนาดหน้าตัดครึ่งเซนติเมตร และยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร
กระดิ่งแขวน
จำนวน : 1 ชิ้น
ลักษณะ : ประยุกต์มาจากกระดิ่งห้อยคอสัตว์ ผิวด้านนอกสลักลายฟันปลาและลายลูกกลิ้ง ด้านในกลวงผิวเรียบ มีแผ่นทองเหลืองรูปใบโพธิ์ห้อยลูกตีช่วยทำให้เกิดเสียงเวลาลมพัด มีหูสำหรับห้อย
ขนาด : ความสูง 5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร ใบโพธิ์มีขนาดความสูง 4.5 เซนติเมตรกว้าง 4.2 เซนติเมตร
พวงกุญแจกระดิ่ง
จำนวน : 1 ชิ้น
ลักษณะ : ประยุกต์มาจากกระดิ่งห้อยคอสัตว์ ผิวด้านนอกสลักลายฟันปลาและลายลูกกลิ้ง มีลูกตีห้อยอยู่ด้านใน ทำให้เกิดเสียง มีหูสำหรับห้อยพวงกุญแจ
ขนาด : ความสูง 3.2 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.2 เซนติเมตร
ขอ หรือ เขาะ นี้ สำเร็จ คำโมง (2542) กล่าวว่า เป็นอุปกรณ์ใช้ผูกคอสัตว์เลี้ยง มีรูปทรงเป็นรางสี่เหลี่ยม มีลูกตี 3-4 ลูก แขวนอยู่ภายในปากราง ขอ หรือเขาะนี้ มักจะทำด้วยท่อนไม้ไผ่ หรือไม้เนื้อแข็งนำมาขุดเป็นราง ลูกตีทำเป็นไม้แท่งกลมขนาดเท่าลำนิ้วมือ มีความยาวมากกว่าร่อง เมื่อแขวนแล้วลูกตีต้องโผล่ออกมานอกปากพอสมควร ขอมักจะใช้ผูกวัวตัวเมียที่เป็นจ่าฝูง เมื่อวัวตัวนี้มุ่งหน้าไปทางใด วัวตัวอื่นก็จะตามไปด้วย ทำให้เจ้าของรู้ทิศทางการเคลื่อนย้ายของฝูงวัวได้
จำนวน : 1 ชิ้น
ลักษณะ : ประยุกต์มาจากขอ หรือ เขาะวัว รูปทรงสี่เหลี่ยม มีหูตรงกลาง ด้านในกลวงมีลูกตี 3 อัน
ขนาด : ความสูง 1.5 เซนติเมตร กว้าง 3.2 เซนติเมตร ลึก 1.5 เซนติเมตร
บรรณานุกรม :
สำเร็จ คำโมง. (2542). กะดิง : เครื่องแขวนคอสัตว์ ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 1. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 121-122
สำเร็จ คำโมง. (2542). ขอ : เครื่องแขวนคอสัตว์ ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 2. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 444