ธวัช ปุณโณทก กล่าวว่า ข้องเป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่สำหรับใส่ปลา รูปร่างคล้ายตะกร้าปากแคบอย่างคอหม้อดิน ก้นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มักสานงานไม้ไผ่เป็นฝาปิด มีขนาดต่าง ๆ โดยทั่วไปเรียกทั้ง “ข้อง” และ “ตะข้อง” แต่ในบางท้องถิ่นเรียกว่า “หมวง” หรือ “หมอง”
ข้องโดยทั่วไปมีขนาดเท่ากับหม้อดินหุงข้าว สานด้วยตอกไม้ไผ่เหมือนกับสานตะกร้า ต่อคอให้ยาวขึ้นโดยให้ส่วนคอคอดเล็กน้อย และผายส่วนปากให้กว้าง
ส่วนฝาปิดสานเป็นงาเหมือนกับงาลอย เพื่อใส่ปลาง่ายแต่ปลากระโดดออกไม่ได้ เพราะงาจะปิดกั้นไว้ ทำสายหิ้ว โดยใช้เชือกตรึงไว้ตั้งแต่ก้นข้องจนถึงปากข้อง เหลือปลายเชือกให้เป็นสายยาวพอสมควร เพื่อให้สะดวกในการสะพายติดตัวไปหาปลา มักเรียกว่า “ข้องพาย” (ข้องสะพาย)
ประเภทของข้อง โดยทั่วไปมี 3 ประเภท คือ
1.ข้องพาย คือ ข้องที่ทำรูปร่างเหมือนตะกร้า และมีเชือกร้อยหูสำหรับสะพายติดตัวไปหาปลา ซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก สามารถนำติดตัวไปได้โดยสะดวก
2.ข้องลอย หรือ ข้องเป็ด คือ ข้องที่ทำรูปร่างเหมาะกับการลอยน้ำติดตามคนหาปลา โดยมีทุ่น (ป่อม) กระบอกไม้ไผ่ หรือไม้โสน ผูกติดข้างข้องทั้งสองข้าง เพื่อให้ข้องลอยน้ำพอดี นั่นคือตัวข้องจะจมอยู่ในน้ำ ¾ และอยู่ในน้ำอีก ¼ เพื่อให้อากาศสำหรับปลาผุดมาหายใจได้ ข้องลอยนี้สามารถสามารถขังปลาได้หลายวัน ปลาจะไม่ตาย รูปร่างของข้องลอยจะทำเป็นทรงนอนขนานไปกับพื้นโดยทำส่วนก้นเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสำหรับวางบนพื้น ด้านบนข้างหนึ่งจะต่อเป็นส่วนปากข้องสูงขึ้นไปเล็กน้อย ทำฝาปิดโดยสานเป็นงา ทำทุ่นไม้ไผ่หรือไม้โสนให้ข้องลอยน้ำได้ มีเชือกผูกข้องยาวพอสมควร สำหรับผูกติดกับคนหาปลา ส่วนปลาที่ใส่ในข้องลอยจะมีอากาศหายใจ จึงมีชีวิตอยู่ในข้องได้หลายวัน
3.ข้องโป้ คือ ข้องขนาดใหญ่สำหรับใส่ปลาจำนวนมาก มักจะทำเป็นข้องลอยเพื่อที่จะใช้กักขังปลาไว้ได้จำนวนมากและขังปลาได้หลายวันโดยปลาไม่ตาย ข้องโป้จะลอยอยู่ในน้ำใกล้บ้าน ครั้นหาปลาได้จำนวนหนึ่งก็จะมาขังไว้ในข้องโป้ บางท้องถิ่นมีลักษณะคล้ายกับกระชังเลี้ยงปลาของภาคกลาง แต่มีขนาดเล็กกว่า
ชิ้นที่ 1
ลักษณะ : สานด้วยไม้ไผ่ ตัวข้องสานด้วยลายสอง ก้นสานด้วยลายสาม มีหู 2 หู ขอบปากทำด้วยไม้ไผ่มัดด้วยเชือกไนล่อน
ขนาด : ความสูง 7.5 เซนติเมตร ปากเป็นวงกลมมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.3 เซนติเมตร ก้นเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ความยาวของเส้นทแยงมุม 4 เซนติเมตร มีฝาปิด เรียกว่า งา เป็นวงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร ขาตั้งที่ก้น 4 มุม ขนาดความสูง 0.5 เซนติเมตร
บริจาคโดย : ประทับใจ สิกขา
ชิ้นที่ 2
ขนาด : ความสูง 5 เซนติเมตร ปากเป็นวงกลมมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.7 เซนติเมตร ก้นเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ความยาวของเส้นทแยงมุม 2.5 เซนติเมตร งามีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.4 เซนติเมตร ยาว 1.5 เซนติเมตร ขาตั้งสูง 0.5 เซนติเมตร สายร้อยหู 2 ข้างด้วยเชือกไนล่อน
บริจาคโดย : ประทับใจ สิกขา
ชิ้นที่ 3
ขนาด : ความสูง 24 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางปาก 11.5 เซนติเมตร ก้นเป็นรูปสี่เหลี่ยม สานด้วยลายสาม มีเส้นทแยงมุงยาว 15 เซนติเมตร มีขาตั้งสูง 2 เซนติเมตร ทำจากไม้ไผ่ส่วนที่เป็นตาไม้ เส้นรอบวงคอ 30 เซนติเมตร งามีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 10 เซนติเมตร ยาว 11 เซนติเมตร มีหู 2 ข้าง มีสายห้อยสำหรับถือ/แขวน ทำด้วยไนล่อน ขอบปากทำจากไม้ไผ่
ชิ้นที่ 4
ลักษณะ : สานด้วยติวไม้ไผ่ รูปทรงสี่เหลี่ยมมุมมน
ขนาด : ความสูง 25.5 เซนติเมตร ก้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดเส้นทแยงมุมยาว 25 เซนติเมตร ก้นสานด้วยลายสองบี ตกแต่งขอบด้วยเชือกไนล่อน ขาตั้งสูง 1.5 เซนติเมตร ขอบปากทำด้วยไม้ไผ่ ปากมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 14 เซนติเมตร เส้นรอบวงคอยาว 30.5 เซนติเมตร งามีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 10 เซนติเมตร ยาว 9.5 เซนติเมตร มีที่จับช่วยให้เปิดง่าย
บรรณานุกรม :
ธวัช ปุณโณทก. (2542). ข้อง: ภาชนะใส่ปลา ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 2. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 445