พิชญ์ สมพอง กล่าวว่า อัก บางแห่งจะเรียก กวัก เป็นเครื่องมือสำหรับคัดด้ายหรือไหม รูปร่างคล้ายระวิง เมื่อต้องการคัดด้ายหรือคัดไหมจะใช้อักสาวไหมออกจาก “กงกวัก” ในขณะสาวไหมหรือด้ายออกจากกงกวัก หากพบเส้นไหมหรือด้ายมี “ขี้ไหม” หรือไหมมีปม เส้นไหมไม่เรียบ ตะปุ่มต่ำ ก็จะใช้ “มีดแกะขี้ไหม” ออก ซึ่งเป็นมีดเล็ก ๆ เป็นการคัดเส้นไหมให้เรียบงาม อัก ต้องใช้คู่กับ กงกวัก
อัก จะทำด้วยไม้จริงประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้
แขนอัก เป็นไม้ริ้ว 4-6 ริ้ว เหลี่ยมขนาดกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 40 เซนติเมตร ปลายสองข้างเรียวเล็กน้อย ห่างจากปลายสองข้างประมาณข้างละ 5 เซนติเมตร เจาะรูเพื่อสอดใส่กับ “ตีนกา” ซึ่งถือเป็นแกนกลางของอัก แต่ละริ้วห่างกันประมาณ 15 เซนติเมตร
ตีนกา เป็นไม้ 2 อัน ขนาดกว้างอันละประมาณ 3 เซนติเมตร ยาวประมาณอันละ 25 เซนติเมตร ประกบกันเป็นรูปเหมือนกากบาท แกนกลางของตีนกา เจาะเป็นรูกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร เพื่อใส่กับ “โคยอัก” ได้ ปลายตีนกาแต่ละข้างยึดติดกับ “แขนอัก”
แท่นอัก หรือ ไม้คอนอัก เป็นแท่นไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างประมาณ 20 เซนติเมตร ยาวประมาณ 40 เซนติเมตร หนาประมาณ 5 เซนติเมตร ปลายข้างหนึ่งของแท่นปักเสาไม้ 2 เสา เพื่อยึด “โคยอัก” (เพลาอัก) สำหรับสอดใส่อักให้แกว่งหรือหมุน เมื่อต้องการจะคัดไหมหรือด้ายให้แยกเป็นตอน ๆ ตามต้องการ
จำนวน : 2 ชิ้น
อัก
ลักษณะ : ทำจากไม้เนื้อแข็ง ทรงกระบอก
ขนาด : ความสูง 43 เซนติเมตร มีริ้วไม้ 6 อัน ติดอยู่กับแกนไม้วงกลม 2 ด้าน เจาะรูตรงกลางแกนให้สวมกับคอนอักได้ ขนาดรูแกนเส้นผ่าศูนย์กลาง 16.5 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแกนทั้งสองด้าน 24 เซนติเมตร
อักและคอนอัก จำลอง
ลักษณะ : อักและคอนอัก ทำจากไม้เนื้ออ่อน
ขนาด : คอนอัก ความสูง 24 เซนติเมตร ความกว้าง 20 เซนติเมตร ความลึก 9.5 เซนติเมตร เหล็กสำหรับแขวนอักยาว 21.5 เซนติเมตร อัก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 7 เซนติเมตร สูง 15 เซนติเมตร
บรรณานุกรม :
พิชญ์ สมพอง. (2542). อัก (ที่พันด้าย): ทอผ้า ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 5196