ธวัช ปุณโณทก กล่าวว่า กระสวยหรือกะสวย เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้า มีหน้าที่ส่งเส้นด้ายพุ่งเข้าไปในด้ายเส้นยืนที่ขึงอยู่บนกี่หรือหูกทอผ้า เพื่อที่จะให้ด้ายพุ่งสอดอยู่ในระหว่างด้ายยืน ครั้งเมื่อช่างทอผ้ากระทบฟืมให้ด้ายพุ่งชิดกันครั้งหนึ่ง ก็จะพุ่งกระสวยอีกครั้งหนึ่งสลับกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้เนื้อผ้าตามที่ต้องการ
ลักษณะของกระสวย ส่วนใหญ่กระสวยจะทำด้วยไม้ที่มีน้ำหนัก เช่น ไม้พะยูง ไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ เป็นต้น มีรูปร่างคล้ายเรือ มีความยาวประมาณ 35-40 เซนติเมตร กว้าง 3 เซนติเมตร โดยทำส่วนหัวและส่วนท้ายให้เรียว เพื่อสะดวกในการพุ่งเข้าไประหว่างด้ายยืน
กระสวยแบ่งเป็น 3 ตอน คือ
ตอนกลาง ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร กว้าง 3 เซนติเมตร เจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือนเรือ มีรูขนาดเล็กด้านข้าง 1 รู เพื่อให้ด้ายพุ่งรอกออกมาได้ ในช่องดังกล่าวจะใช้เป็นที่ใส่หลอดด้ายเส้นพุ่ง ซึ่งมีเดือยสำหรับเสียบแกนหลอดด้าย แกนหลอดด้ายจะต้องหมุนได้คล่องตัว และจัดให้ปลายด้ายในหลอดนั้นสอดออกมาทางรูด้านข้างของกระสวยขณะที่พุ่งกระสวยผ่านไปในด้ายเส้นยืน จะเป็นการส่งด้ายเส้นพุ่งผ่านไปได้เส้นหนึ่ง
ตอนหัว จะทำเรียวเหมือนรูปหัวเรือ มีความยาวประมาณ 12 เซนติเมตร ส่วนปลายสุดจะทำให้หัวเชิดเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้กระสวยติดเส้นด้ายยืนขณะที่พุ่งส่งด้าย
ตอนท้าย มีลักษณะเดียวกับส่วนหัว คือ มีรูปร่างเหมือนกันจนแบ่งไม่ได้ว่าข้างใดเป็นหัวข้างใดเป็นท้าย
จำนวนทั้งหมด : 8 ชิ้น
กระสวยกี่กระทบ
จำนวน : 4 ชิ้น
ลักษณะ : ทำด้วยไม้ รูปร่างคล้ายเรือ
ขนาด : ขนาดความยาว 43-46 เซนติเมตร เจาะช่องตรงกลางสำหรับใส่หลอดด้ายเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 8.7*2.7*1.8, 8.7*3.5*1.9, 10*3.3*1.8, 8.6*3.4*1.8 เซนติเมตรปลายมนแบนทั้งสองด้าน
กระสวยกี่กระตุก
จำนวน : 2 ชิ้น
ขนาด : ความยาว 34 เซนติเมตร ปลายทั้งสองข้างแหลม เจาะช่องตรงกลาง 2 ช่อง ภายในช่องมีลวดยาวสำหรับใส่หลอดด้าย มีรูให้สอดเส้นด้ายออกด้านข้าง 1 รู แกนตรงกลางกระสวยด้านหนึ่งเซาะร่องด้ายไว้
กระสวยกี่กระทบ จำลอง
จำนวน : 2 ชิ้น
ขนาด : ชิ้นที่ 1 ความยาว 21 เซนติเมตร ช่องสำหรับใส่หลอดไหม ความยาว 6 เซนติเมตร ความกว้าง 1.5 เซนติเมตร ความลึก 1.5 เซนติเมตร
ชิ้นที่ 2 : ความยาว 20.5 เซนติเมตร ช่องสำหรับใส่หลอดไหม ความยาว 5 เซนติเมตร ความกว้าง 1.5 เซนติเมตร ความลึก 1.5 เซนติเมตร
บรรณานุกรม :
ธวัช ปุณโณทก. (2542). กระสวย: เครื่องมือทอผ้า ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 1. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 72-73