ประจักษ์ บุญอารีย์ กล่าวว่า กะต่า บางท้องถิ่นเรียกว่า กะซ้า เป็นเครื่องจักสานที่ครัวเรือนชาวอีสานทุกครัวเรือนต้องใช้ มีลักษณะทั่วไปเป็นทรงกระบอก ส่วนล่างหรือส่วนก้นเล็กว่าส่วนปากเล็กน้อย ส่วนกลางโป่งออกพองาม โดยปกติทำด้วยไม้ไผ่ที่ชาวอีสานเรียกว่า ไม้ไผ่ใหญ่ บ้างก็ทำด้วยหวาย ขนาดของกะต่าขึ้นกับวัตถุประสงค์ของการใช้สอยและผู้ใช้ ขนาดใหญ่ที่สุดเรียกว่า กะต่าหมื่น คือ สามารถบรรจุข้าวเปลือกได้ประมาณหนึ่งหมื่น (12 กิโลกรัม) หรือมีก้นขนาดประมาณ 8-12 นิ้ว
กะต่า แบ่งตามลักษณะรูปร่างและประโยชน์ใช้สอยได้ 3 ประเภท คือ กะต่าฮวง (รวง) กะต่าหู และกะต่าตาแตก
กะต่าฮวง มีงวงหรือหูหรือที่จับ ยื่นจากปากกะต่าขนาดเท่าความสูงของกะต่า หรือไม่เกินสองเท่าของความสูงตัวกะต่า เพื่อให้ผู้หาบสามารถหาบพ้นจากพื้นสูงพอที่จะเดินได้สะดวก ฮวงกะต่าอาจจะทำด้วยไม้ไผ่ หวาย หรือไม้ที่มีความเหนียม สามารถทานน้ำหนักของกะต่าได้
กะต่าหู หรือ กะต่าสาย ทำหูที่ปากกะต่าตรงข้ามกันข้างละสองหู เพื่อสอดเชือกผูกรัดกับกะต่า ปล่อยเชือกเป็นห่วง ความยาวขนาดพอกับกะต่าฮวง เพื่อทำหน้าที่แทนฮวงกะต่า เรียกว่า สายกะต่า สามารถผูกปลายเชือกให้สั้นยาวได้ตามความต้องการของผู้ใช้ ถ้าทำให้สั้นลงเรียกว่า “จ้อนสายกะต่า” ถ้าทำให้ยาวขึ้นเรียกว่า “ยานสายกะต่า” ทั้งกะต่าฮวงและกะต่าหู นิยมทำเป็นคู่หรือกะต่าหาบ
กะต่าตาแตก หรือกะต่าตาห่าง เป็นประเภทกะต่าเดี่ยว กะต่าหูที่ทำสายขึ้นพิเศษเพื่อการสะพาย
วิธีการสานกะต่า
โดยปกติกะต่าจะทำด้วยไม้ไผ่ใหญ่ หรือไม้ไผ่บ้าน ซึ่งเป็นไผ่ที่สามารถเห็นได้ทั่วไปทุกหมู่บ้านของภาคอีสาน ทั้งกะต่าฮวงและกะต่าหูจะสานเหมือนกัน คือ มีตอกยั้งและตอกสาน ตอกยั้งหรือตอกตั้งจะมีขนาดความกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีความหนาและแข็งพอจะขึ้นรูปได้ ถ้าอ่อนมากจะทำให้กะต่าไม่แข็ง ลักษณะตอกจะเหลาให้ส่วนข้างทั้งสองด้านเล็กกว่าส่วนกลางเส้นตอก เพื่อให้สามารถสานได้สะดวก ได้พื้นผิวเรียบแน่นและแข็งแรง ส่วนตอกสานเส้นเล็กขนาดครึ่งหนึ่งของตอกยั้ง ลักษณะคล้ายตอกสาน เหลาให้เรียบ
การสานกะต่า เริ่มต้นด้วยการสานก้นเป็นลายคุบหรือลายสองหรือลายสาม ขนาดตามความต้องการ คัดก้นด้วยไม้ไขว้กันเพื่อให้ส่วนกลางนูนขึ้น ส่วนมุมเป็นปุ่มทำหน้าที่เป็นตีนและช่วยเสริมให้ก้นกะต่าแข็งแรง เมื่อก่อเสร็จจึงขึ้นรูปโดยใช้ตอกสาน โดยปกติจะสานทีละสามเส้นพร้อมกัน แต่ไล่ตามกันเป็นรอบ ๆ ลายสานกะต่าจะใช้ลายขัดสาม คือยกตอกยั้งสามเส้น แล้วข้ามหรือเว้นสามเส้นจึงยกอีกสามเส้นเรื่อยไป แต่ระหว่างเส้นตอกสานสามเส้นที่สานไล่ตามกันจะเหลื่อมตอกยั้งกันอยู่เส้นเดียว การจัดรูปร่างขึ้นอยู่กับลักษณะความเนียนของตอกและฝีมือของคนสาน เมื่อสานได้ขนาดความสูงตามต้องการแล้ว จึงม้วนส่วนปากกะต่าให้เป็นขอบด้วยวิธีการม้วนปากกะต่าโดยเฉพาะ หลังจากนั้นจึงตอกตีนขนาดประมาณ 1 นิ้ว ที่มุมก้น 4 มุม แล้วจึงทำฮวงหรือทำหู
กะต่าเป็นภาชนะที่ใช้บรรจุสิ่งของที่ไม่เป็นของเหลวได้แทบทุกประเภท ทั้งเพื่อการเก็บรักษาและขนย้าย โดยปกติจะทำเป็นคู่เพื่อใช้หาบใช้คู่กับไม้คาน ซึ่งจะเก็บไว้ใกล้ ๆ กันเพื่อสะดวกในการใช้สอย
ประทับใจ สิกขา กล่าวว่า กะต่าในภาคอีสานนี้จะมีรูปทรงคล้าย ๆ กัน จะต่างกันด้วยขนาดเล็กใหญ่ กะต่าจะใช้ได้ทั้งแบบเป็นคู่และใช้หิ้วเพียงใบเดียว ตั้งแต่ใช้ใส่ผัก ผลไม้ ถ่าน และสิ่งของต่าง ๆ ไปจนถึงเชี่ยนหมาก เรียกว่า คุหมาก หรือบางครั้งใช้ชันยาทำเป็นครุหรือคุสำหรับตักน้ำก็ได้ เพราะมีน้ำหนักเบาทำได้ง่าย ราคาถูกกว่าภาชนะอื่น
ขนาด : ความสูง 17 เซนติเมตร ปากมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 20 เซนติเมตร ก้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีเส้นทแยงมุมยาว 16 เซนติเมตร มีขาตั้งคู่ 4 มุม สูง 1 เซนติเมตร ก้นสานด้วยลายสอง ใช้ตอกขนาด 0.5-0.8 เซนติเมตร ขอบปากทำด้วยไม้ไผ่ ตรึงด้วยเชือกไนล่อน มีหู 2 ข้าง หูหิ้วทำด้วยเชือกไนล่อน
บรรณานุกรม :
ประจักษ์ บุญอารีย์. (2542). กะต่า (ตะกร้า) ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 1. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 123-125
ประทับใจ สิกขา. (2546). รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมโครงการรวบรวมข้อมูลงานหัตถกรรมเครื่องจักสานไม้ไผ่และหวาย. อุบลราชธานี : คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ.