ธวัช ปุณโณทก กล่าวว่า ไหกับ เป็นไหที่มีลิ้นปากไหพร้อมกับฝาปิด รูปทรงสูงประมาณ 50-80 เซนติเมตร ก้นสอบ ตัวทรงกระบอกหรือป่องข้างเล็กน้อย ปากจะสอบลง เป็นไหที่นิยมทำใช้กันเองในภาคอีสาน ซึ่งเหมาะกับการใช้ใส่ปลาร้า (ปลาแดก) จึงมักจะเรียกกันว่า ไหปลาแดก และอาจจะนำไปใส่น้ำปลา ผักดอง ปูดอง ใส่ข้าว น้ำ หน่อไม้ หมักข้าวเพื่อทำข้าวปุ้น (ขนมจีน) ใส่เหล้า บ่มใบยา และเก็บสิ่งของอื่น ๆ
ลักษณะเด่นของไหกับ คือ มีกับที่ปากไห (ลิ้น) เพื่อใช้เป็นที่หล่อน้ำกันมด ปลวก หรือแมลงลงเข้าไปในไห และยังมีฝาปิดปากไหอีกด้วย ส่วนเนื้อไหนั้นเป็นดินเผาชนิดแกร่ง นั่นคือ เผาด้วยความร้อนสูงจนเนื้อดินเผาเยิ้มด้วยความร้อน โดยทั่วไปจะมีสีน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลไหม้หรือดำ เนื้อดินเผาแกร่งนี้สามารถกักกันน้ำไม่ให้ซึมออกมาได้ จึงนิยมใช้ใส่น้ำ เช่น โอ่งน้ำ ตุ่มน้ำ ไหน้ำปลา (ไหซอง) ไหกับ
ไหกับเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้วิธีการเผาที่เรียกว่า การเผาชนิดแกร่ง ฉะนั้นเตาที่ใช้เผานั้น ต้องเป็นเตาที่ให้ความร้อนสูง ประกอบกับส่วนผสมของดินที่ทำเครื่องปั้นดินเผาต้องสามารถทนความร้อนสูง ๆ ได้ เตาเผาแกร่งจะสามารถควบคุมอุณหภูมิความร้อนจากเชื้อเพลิงได้ตลอดเวลาตามความต้องการ สามารถเพิ่มความร้อนขึ้นไปเรื่อย ๆ ได้ ตามสภาพคุณลักษณะของเนื้อดินและวัสดุส่วนผสมอื่น ๆ ที่ใช้ ทำให้ภาชนะดินเผาชนิดนี้สุกในความร้อนสูงจนเนื้อแกร่งแข็งมากกว่าการเผาด้วยเตานอกแบบเปิดโล่ง ส่วนใหญ่เตาเผาจะขุดแต่งจากจอมปลวก ลึกประมาณ 3 เมตร มีปล่องให้ควันออก และระบายอากาศได้อย่างดี บางแห่งจะใช้วิธีขุดเตาชายตลิ่งแม่น้ำ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการขนย้าย ใกล้กับแหล่งดิน เครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งจึงมีรูพรุนภายในเนื้อไม่มากน้ำจึงซึมออกไม่ได้ ปัจจุบันได้มีการประยุกต์รูปแบบเครื่องปั้นดินเผาเป็นเครื่องประดับบ้าน เครื่องตกแต่งสวน เครื่องประดับกายและสิ่งของที่ระลึก แต่กรรมวิธีในการปั้นยังใช้กรรมวิธีแบบพื้นบ้านอยู่
ชิ้นที่ 1
ขนาด : ความสูง 19.8 เซนติเมตร ลิ้นไหเป็นวงกลมมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 7.7 เซนติเมตร. ขอบปากเส้นผ่าศูนย์กลาง 17 เซนติเมตร ขอบปากสูง 3.5 เซนติเมตร ก้นเป็นวงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 11.3 เซนติเมตร เขียนลายคลื่นที่บริเวณคอไห สีน้ำตาลม่วง
ชิ้นที่ 2
ขนาด : ความสูง 29.5 เซนติเมตร ลิ้นไหเป็นวงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 9.5 เซนติเมตร ปากเป็นวงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 21 เซนติเมตร ปากไหสูง 3.5 เซนติเมตร ก้นเป็นวงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 เซนติเมตร เขียนลายคลื่นและเส้นตรงบริเวณคอไห
ชิ้นที่ 3
ขนาด : ความสูง 42.5 เซนติเมตร ลิ้นไหเป็นวงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 11 เซนติเมตร ปากเป็นวงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 25.5 เซนติเมตร ขอบปากสูง 5 เซนติเมตร ก้นเป็นวงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 19 เซนติเมตร มีที่ครอบปากไห รูปร่างคล้ายถ้วย ที่ครอบมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 15.8 เซนติเมตร สูง 8.2 เซนติเมตร ส่วนก้นของที่ครอบมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 8.3 เซนติเมตร เขียนลายทาบเชือกและลายคลื่น สีน้ำตาลม่วง
บรรณานุกรม :
ธวัช ปุณโณทก. (2542). ไหกับ (ไหปลาร้า) ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 15. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 5140-5141
สมชาย นิลอาธิ. (2542). เครื่องปั้นดินเผาแกร่งภาคอีสาน ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 3. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 759-770