ตุ้มนกคุ่ม

นกคุ่ม หรือ นกคุ้ม หรือนกขุ่ม เป็นชื่อเรียกนกที่มีลักษณะตัวป้อม ๆ  ขนสีน้ำตาลเทา มีลายพาดเป็นแถบริ้วที่ปีกข้างลำตัว ที่แก้มมีจุดประสีขาวบนพื้นสีดำ ขนใต้ท้องสีน้ำตาลอ่อน ตัวเมียใต้คางมีสีดำ ปากยาว ปีก หาง ขาสั้น ขาแต่ละข้างมีนิ้วเท้าด้านหน้าสามนิ้ว นิ้วหลังไม่มี ลักษณะสีขนที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ ทำให้นกคุ่มชอบพรางตัว ซุกซ่อน หรือหลบหลีกศัตรูอยู่ตามพุ่มไม้เตี้ยโล่ง หรือทุ่งนาโดยเฉพาะระยะเก็บเกี่ยวข้าว วางไข่ และคุ้ยเขี่ยหาอาหาร เช่น ปลวก แมลง และเมล็ดพืชบนพื้นดิน เป็นนกที่ไม่ชอบบินและบินได้ไม่สูง

นกคุ่มในภาคอีสาน มีอยู่ 3 ชนิดคือ

  • นกคุ่มอืดตัวใหญ่ สีน้ำตาลเข้ม รูปร่างอ้วนอุ้ยอ้าย มีลายเป็นขีดและเป็นจุด ร้องเสียงอืด อืด ชอบหากินเป็นฝูง หรือไม่ก็ไปเป็นคู่ ตัวผู้มีนิสัยหวงถิ่น และหวงตัวเมียมาก
  • นกคุ่มหรี่ตัวเล็กสีน้ำตาล ชอบหากินตัวเดียว เวลาบินขึ้นฟ้าจะร้องเสียง หลี่ หลี่ ชอบทำรังตามรอยวัว รอยควาย ต่างจากชนิดอื่นที่ทำรังตามละเมาะไม้ ไม่ชอบร้องเหมือน นกคุ่มอืด
  • นกคุ่มลาย(นกคุ่มแกลบ) ตัวเล็กมาก หากินเป็นคู่ ตามป่าละเมาะและทุ่งหญ้า

มีความเชื่อกันว่า หากได้นกคุ่มที่ดีมาเลี้ยงไว้ นับว่าเป็นมงคลช่วยคุ้มครองป้องกันให้แคล้วคลาดจากภัยอันตรายต่าง ๆ ตามชื่อและสัญชาติญาณการหลบหลีกเก่งของนกคุ่ม บ้างก็จะมีการสักรูปนกคุ่มบนผิวหนังพร้อมลงคาถาอาคมให้มีเสน่ห์ เมตตามหานิยม เข้าไปด้วย

นกคุ่มที่นิยมเลี้ยงจะเป็นตัวเมีย ที่มีลักษณะสวยงามกว่าตัวผู้ และมีเสียงร้องอืด อืด สร้างความเพลิดเพลินและสามารถใช้เป็นนกต่อเพื่อเรียกนกคุ่มตัวผู้ได้ นกคุ่มตัวเมียที่ดักจับได้จะเลือกตัวที่มีลักษณะดีนำมาเลี้ยงไว้จนเชื่อง ในกรงเล็ก ๆ ที่เรียก ตุ้มนกคุ่ม ห้อยแขวนไว้ในชานเรือน หรือใต้ถุนที่ร่ม และจะนำไปใช้ต่อนก โดยมีซิงนกคุ่มเป็นอุปกรณ์ใช้ดัก เพื่อนำมาประกอบเป็นอาหารประเภทลาบ เรียกกันว่า ลาบนกคุ่ม การเคลื่อนย้ายนกคุ่มเพื่อเป็นนกต่อ จะใช้ผ้าคลุมตุ้มไว้ และเปิดออกเมื่อตุ้มถูกวางลงในบริเวณที่คาดว่าจะมีนกชุม เพื่อให้ส่งเสียงเรียกนกตัวอื่น ๆ มา ถ้านกคุ่มตัวเมียเข้ามาหาจะเข้ามาจิกตี ส่วนนกตัวผู้เข้ามาหา วิธีนี้อาจจะทำให้จับนกได้คราวละ 1-2 ตัว

ตุ้มนกคุ่ม จะทำด้วยไม้ไผ่ รูปร่างคล้ายผลน้ำเต้า ซี่กรงทำด้วยซี่ไม้ไผ่ กันกรงมักสานทึบและมีกระด้งเล็ก ๆ สำหรับรองรับขี้นกและเศษอาหาร ข้างกรงเจาะเป็นรูเล็ก ๆ ให้นกลอดหัวออกมากินอาหารได้ หัวกรงมีขอสำหรับแขวน มีขนาดความสูงประมาณ 20-25 เซนติเมตร


บริจาคโดย : ประทับใจ สิกขา

จำนวน : 1 ชิ้น

ลักษณะ : ทรงกลม ทำด้วยไม้ไผ่ ก้นสานด้วยลายสอง ขนาดตอกกว้าง 0.8 เซนติเมตร ตัวสานด้วยลายสอง ขนาดตอกกว้าง 0.3 เซนติเมตร มีโครงเป็นซี่ ๆ ยาก้นด้วยขี้ชันตรงขอบตัวด้านล่าง แต่ไม่ได้ยาส่วนพื้น ด้านบนมีปากวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8.5 เซนติเมตร ด้านข้างมีรูวงกลมสำหรับป้อนอาหาร ทำจากไม้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.3 เซนติเมตร ร้อยยึดกันด้วยเชือกไนล่อน

ขนาด : ความสูงจากฐานถึงงวง (ที่จับ) 30 เซนติเมตร งวงสูง 8 เซนติเมตร ตัวตุ้มสูง 15 เซนติเมตร เส้นรอบวง 61 เซนติเมตร ขาสูง 7 เซนติเมตร มีขาตั้ง 4 มุม เส้นผ่าศูนย์กลางก้น 18 เซนติเมตร

ตุ้มนกคุ่ม ตุ้มนกคุ่ม ตุ้มนกคุ่ม ตุ้มนกคุ่ม ตุ้มนกคุ่ม


บรรณานุกรม :

ทิดหมู มักม่วน. (2560). ภูมิปัญญาโบราณกับการหาเลี้ยงชีพ (2). เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562, https://www.isangate.com/new/32-art-culture/knowledge/462-tools-4-bird.html

วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. (2546). พจนานุกรมหัตถกรรม เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.