เขิง คือ ตะแกรงที่ทำด้วยไม้ไผ่สาน ใช้สำหรับช้อนปลา เรียกว่า เขิงซ่อนปลา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปลาขนาดเล็ก เช่น ปลาสร้อย ปลาซิว เป็นต้น ส่วนเขิงร่อนข้าวจะมีลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อย นั้นคือ เขิงร่อนข้าวไม่จำเป็นจะต้องทำก้นตะแกรงลึกมากเหมือนเขิงช้อนปลา เพราะสะดวกในการร่อนรำออก หรือร่อนปลายข้าวให้แยกออกจากเมล็ดข้าว นอกจากนำไปใช้ร่อนข้าวร่อนรำแล้วยังใช้เป็นที่ตากอาหาร เช่น ปลา เนื้อ หรือตากเมล็ดพันธุ์พืชต่าง ๆ ได้ดวย
ลักษณะของเขิง
เขิงทำจากไม้ไผ่สานตาขนาดเล็ก ส่วนตอกสำหรับสานเขิงก็นิยมใช้ตอกไม้ไผ่ขนาดเล็ก ส่วนปากเขิงจะทำขอบด้วยไม้ไผ่เพื่อสะดวกในการใช้จับถือ และเพื่อให้มีความมั่นคงแข็งแรง โดยใช้ไม้ไผ่เหลาให้บางพอสมควรขนาดยาว 1 รอบของปากเขิง มาทำเป็นวงกลม 2 อัน นำไม้ไผ่ขอบเขิงทั้งสองมาวงรอบปากเขิง โดยให้ไม้ไผ่ขอบเขิงขนาบตอกสานปากเขิงไว้ให้แน่น ใช้หวายมัดเป็นเปลาะ ๆ โดยรอบให้มีความแข็งแรง ส่วนตัวตะแกรงนั้น สานด้วยตอกขนาดเล็กเป็นลายขัด เว้นช่องให้เป็นตาขนาดเล็ก
1.ถ้าเป็นเขิงช้อนปลา จะทำก้นเขิงให้ลึกประมาณ 1 ฟุต เพื่อที่จะกักขังปลาขณะที่ใช้ช้อนปลาในน้ำ หรือเพื่อกันไม่ให้ปลากระโดดออกได้ง่ายเมื่อยกเขิงขึ้นจากน้ำ
2.ถ้าเป็นเขิงร่อนข้าว ก้นเขิงจะตื้น คือ ตัวตะแกรงเป็นแผ่นแบบเรียบ มีเพียงขอบตะแกรงโดยรอบยกขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น
จำนวน : 3 ชิ้น
เขิง จำลอง
ลักษณะ : รูปร่างกลม สานด้วยไม้ไผ่เหลาแบนขนาดประมาณ 0.5 เซนติเมตร สานลายขัด
ขนาด : เส้นผ่านศูนย์กลาง 33 เซนติเมตร ขอบทำด้วยติวไม้ไผ่ สูง 2.5 เซนติเมตร ร้อยขอบด้วยไนล่อน
เขิงร่อน หรือเขิงตาก
ลักษณะ : รูปทรงกลมแบน ทำด้วยไม้ไผ่เหลาแบนขนาดประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร สานลายขัด ตาห่างประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร
ขนาด : เส้นผ่านศูนย์กลาง 66.5 เซนติเมตร ขอบทำด้วยไม้ไผ่สูง 2.5 เซนติเมตร ร้อยขอบด้วยไนล่อน
เขิงช้อนปลา
ลักษณะ : รูปทรงครึ่งวงกลม ทำด้วยไม้ไผ่เหลาแบนขนาดประมาณ 0.5 เซนติเมตร สานด้วยลายสาม ตาห่าง 0.2-0.3 เซนติเมตร
ขนาด : เส้นผ่านศูนย์กลาง 49เซนติเมตร ขอบทำด้วยติวไม้ไผ่สูง 2.5 เซนติเมตร ร้อยขอบด้วยหวาย
บรรณานุกรม :
ธวัช ปุณโณทก. (2542). เขิง (ตะแกรง) ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 590-591