กก เป็นไม้ล้มลุกที่พบได้ทั่วไปในบริเวณที่ชื้นแฉะ เป็นพืชน้ำที่มีความเหนียวและทนทาน จึงทำให้ถูกนำมาใช้เป็นวัสดุในงานหัตถกรรมเครื่องจักสาน ที่พบเห็นมากที่สุดคือ การนำมาผลิตเสื่อ สำหรับปูนั่ง ภายหลังมีการออกแบบและพัฒนาเป็นรูปแบบต่าง ๆ อาทิ กระเป๋า หมวก กล่องบรรจุภัณฑ์ ที่รองจาน รองแก้ว ของฝากของที่ระลึกต่าง ๆ
กก มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Cyperus imbricatus ชื่อสามัญเรียกว่า Sedgeมีรูปร่างและระบบนิเวศคล้ายกับหญ้า มีเหง้าสูง 50-150 เซนติเมตร มักหนาที่โคน ใบมีสีเขียว แต่ปลอกหุ้มมีสีฟางข้าว ดอกเป็นดอกช่อยาวถึง 20 เซนติเมตร ช่อดอกย่อยประกอบด้วยดอกย่อย 6-20 ดอก ขยายพันธุ์ด้วยเหง้าและเมล็ด ชอบดินที่มีน้ำขัง จึงพบได้ทั่วไปตามบริเวณที่ชื้นแฉะ หนองน้ำ หรือ บึง
การเตรียมและสอยต้นกก
- ตัดต้นกกสด โดยคัดเลือกต้นกกที่มีขนาดเท่ากันไว้ด้วยกัน
- นำต้นกกที่คัดแล้วมาสอยเป็นเส้นเล็ก ๆ โดยใช้มีดปลายแหลมคม โดยกก 1 ต้น สามารถกรีดตามแนวตั้งได้ 5 เส้น
- นำเส้นกกที่สอยแล้วมาผึ่งแดดให้แห้ง ประมาณ 1 สัปดาห์ (ถ้าเป็นไปได้ต้องเป็นแดดจัด ๆ 5-7 แดดให้แห้ง)
- นำเส้นกกสอยที่ตากแห้งแล้วมามัดเป็นมัด ๆ รอการย้อมสีตามลายที่ออกแบบไว้
การย้อมสี สามารถทำได้ทั้งย้อมสีสังเคราะห์ (สีเคมี) และสีธรรมชาติ
- ก่อไฟโดยไฟที่ใช้ต้องสม่ำเสมอ นำปี๊บ หรือกระทะใส่น้ำพอประมาณท่วมเส้นกกนำมาตั้งบนเตา รอให้น้ำเดือด
- พอน้ำเดือดก็นพสีที่เลือกมาเทลง
- นำเส้นกกที่คัดเลือกแล้วลงย้อมจนเพียงพอที่จะใช้ในการทอ
- นำเส้นกกที่ย้อมสีแล้วลงล้างในน้ำเปล่าแล้วนำไปตากแดดที่จัดจนแห้ง
- นำเส้นกกที่ย้อมสีตากแห้งแล้วมากเก็บมัดรวมกัน โดยแยกสีเป็นสีแต่ละสี
ในการย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งเป็นสีที่ได้จากเปลือกของต้นไม้ต่าง ๆ เช่น ต้นกระโดน ต้นมะม่วง ต้นประดู่ ต้นกระถินณรงค์ มีขั้นตอนการย้อมสีเพิ่มเติมขึ้นมา ดังนี้
- หมักเส้นกกที่เตรียมไว้ด้วยโคลน
- นำเปลือกไม้ที่ต้องการสีมาแช่ในน้ำและต้มน้ำให้เดือด
- นำเอาเส้นกกที่ผ่านการหมักโคลนไปย้อมด้วยสีธรรมชาติที่เตรียมไว้
- นำไปล้างน้ำเพื่อให้สีส่วนเกินออกไป และตากให้แห้ง
เมื่อเตรียมกกเรียบร้อยแล้วก็นำไปสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยลวดลายที่นิยมใช้กัน เช่น ลายหมี่ ลายหงส์ ลายดอกแก้ว ลายนกอินทรีย์ ลายบักจับ ลายบัวใต้น้ำ เป็นต้น
จำนวน : 2 ชิ้น
กล่องใส่กระดาษชำระ
ลักษณะ : ทรงกระบอก มี 2 ชิ้นประกบกัน เพื่อให้สามารถถอดและนำกระดาษเข้าไปเก็บข้างในได้ ด้านบนและล่างมีรูตรงกลาง
ขนาด : ชิ้นใหญ่ ความสูง 10.5 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 11.5 เซนติเมตร รูมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร
ชิ้นเล็ก ความสูง 2 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 11 เซนติเมตร รูมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เซนติเมตร
หมวก
ลักษณะ : มีปีกหมวก ส่วนที่สวมเป็นรูปหยดน้ำ
ขนาด : ความสูง ประมาณ 11-12 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางรวมปีกหมวก 35 เซนติเมตร ทรงหยดน้ำด้านในสูง 20 เซนติเมตร ด้านนอกสูง 15.5 เซนติเมตร ปีกหมวกกว้าง 7.5 เซนติเมตร
บรรณานุกรม :
มาลี ประจวบสุข. (2556). การสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอเสื่อกกของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ.เข้าถึงเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2562, http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubu-art-culture/?p=797