ในสมัยก่อนที่จะมีกระดาษใช้งานอย่างทุกวันนี้ การจารึกหรือบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตำรายา ตำราหมอดู วรรณกรรม คำสอน นิทานพื้นบ้าน หรือคัมภีร์ที่พระใช้เทศนา จะเขียนลงในใบลาน โดยใช้อักษรแบบต่าง ๆ เช่น อักษรธรรม อักษรไทน้อย อักษรเขมร มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น หนังสือก้อม หนังสือผูก หนังสือเทศน์
การบันทึกอักษรลงในใบลานเรียกว่า การจารอักษร โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า เหล็กจาร ซึ่งมีลักษณะเป็นเหล็กปลายแหลมคล้ายเข็มเย็บผ้า มีด้ามทำด้วยไม้หรือเขาสัตว์ ขนาดตามความถนัดของผู้ใช้ ส่วนที่เป็นเหล็กแหลมนั้นจะโผล่ออกมาจากด้ามถือ ในขณะที่จารตัวหนังสือ ต้องฝนเหล็กจารให้แหลมคมอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ ก็เพื่อช่วยให้เส้นอักษรเรียบและรูปลายเส้นอักษรงาม ไม่เป็นเส้นเสี้ยน และต้องรักษาน้ำหนักมือไม่ให้ลงเหล็กจารลึกมาก หากลงน้ำหนักมากเกินไป ใบลานอาจทะลุ หรือเห็นเป็นรอยรูปอักษรบนอีกหน้าหนึ่งได้
เครื่องมือประกอบการจารใบลานอีกอย่างหนึ่ง คือ “หมอนรองลาน” หมอนนี้ทำจากใบลานยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร เรียงซ้อนกัน 6-7 ใบ เย็บลานนี้ให้ติดกัน ใช้ผ้าหุ้มโดยรอบ เย็บขอบให้เรียบร้อยสวยงาม ที่ด้านซ้ายและด้านขวาของหมอนรองลาน นิยมใช้ลานเส้นกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร พันไว้ เพื่อใช้เป็นเข็มขัดรัดใบลาน ขณะจารหนังสือ และที่ข้างหมอนด้านยาวจะมีไม้ไผ่เหลาแบน กว้างประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร จำนวน 4 อัน (หรือใช้เส้นตอกอย่างแข็ง) เสียบตามร่องลาน มุมละ 2 อัน เพื่อใช้เป็นที่คีบลาน ซึ่งใช้เป็นต้นฉบับ ในขณะคัดลอกข้อความ
วิธีการจารจะใช้เหล็กจารนี้เขียนกดลงไปในใบลาน ใบลานที่ใช้จะมีขนาดความกว้าง 5-6 เซนติเมตร จะเขียนได้ประมาณ 4-5 บรรทัด เมื่อจารเสร็จจะเอาเขม่าไฟสีดำผสมน้ำมันยางทาให้ทั่วแผ่น เนื้อเขม่าสีดำก็จะฝังลงในร่องตามรอยที่เหล็กจารลง เมื่อเอาเศษผ้านุ่ม ๆ เช็ดเขม่าออกจากใบลาน ก็จะมองเห็นอักษรสีดำชัดเจน เมื่อเขม่าแห้งก็จะติดอย่างถาวร
จำนวน : 3 ชิ้น
เหล็กจาร
ลักษณะ : ด้ามทำด้วยไม้เนื้อแข็งเหลาเป็นแท่งกลม เหลาปลายแหลมคม
ขนาด : ความยาว 25 เซนติเมตร
หมอนรองจาร
ลักษณะ : แผ่นไม้เนื้อแข็งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หุ้มด้วยผ้า
ขนาด : ความยาว 6 เซนติเมตร กว้าง 23 เซนติเมตร
ที่เก็บเหล็กจาร
ลักษณะ : รูปทรงกรวยแหลมเรียวคล้ายนิ้วนางสามารถสวมเหล็กจารเข้าไปได้ สานด้วยใบลาน มัดรวมกัน 4 ลูก
ขนาด : แต่ละลูกมียาวประมาณ 22-25 เซนติเมตร
บรรณานุกรม :
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. (2539). การจารใบลาน ใน สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ 32. เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562, http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=32&chap=3&page=t32-3-infodetail04.html
สำเร็จ คำโมง. (2542). หนังสือผูก (หนังสือใบลาน) ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 14. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 4981-4982.