กงดีดฝ้าย หรือ เครื่องดีดฝ้ายให้เป็นปุย ทำด้วยไม้ไผ่เหลาแบนส่วนปลายเรียว ผูกเชือกที่ปลายทั้งสองข้างให้โค้งเข้าหากันลักษณะคล้ายคันธนู หรือคันเบ็ด เชือกที่ขึงไว้นี้จะเป็นสายสำหรับดีดฝ้าย
ก่อนจะนำฝ้ายมาดีด จะต้องนำฝ้ายไปตากแดดเพื่อให้ขึ้นฟู ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการนำเมล็ดออกด้วยเครื่องอิ้วฝ้าย เมื่อแยกเมล็ดออกแล้วจึงจะนำปุยฝ้ายมาดีดด้วย กงดีดฝ้าย เพื่อให้ฝ้ายฟู แล้วจึงนำไปล้อให้เป็นติวหรือหลอดกลม ๆ รอการเข็นหรือปั่นให้เป็นเส้นต่อไป
การดีดฝ้าย จะนำฝ้ายใส่ในตะกร้า หรือกะเพียดซึ่งเป็นเครื่องจักสานที่มีลักษณะคล้ายสุ่มไก่ขนาดใหญ่เพื่อให้ปุยฝ้ายสะอาด ไม่มีสิ่งอื่น ๆ เจือปน นำกงดีดฝ้ายเข้าไปในกลุ่มก้อนฝ้าย โดยมือข้างหนึ่งจับกงดีดไว้ มืออีกข้างดึงเส้นเชือกให้สั่นกระตุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ฝ้ายกระจายตัว ฟู และขึ้นปุยละเอียด หมั่นคนปุยฝ้ายให้ถูกเชือกดีดอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ได้ปุยละเอียดอย่างทั่วถึง การดีดฝ้ายจะดีดทีละน้อยให้เพียงพอกับที่ต้องการใช้เท่านั้น ไม่ควรดีดทิ้งไว้ เพราะปุยฝ้ายจะยุบตัวเป็นก้อนเหมือนเดิม
จำนวน : 1 ชิ้น
กงดีดฝ้าย จำลอง
ลักษณะ : ทำด้วยไม้ไผ่ รูปร่างโค้งคล้ายคันธนู ร้อยด้วยไนล่อน
ขนาด : ความยาว 43 เซนติเมตร
บรรณานุกรม :
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. (2546). พจนานุกรมหัตถกรรมเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ
ศักดิ์ชาย สิกขา. (2552). ต่อยอดภูมิปัญญาหัตถกรรมพื้นบ้าน. อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
สิทธิชัย สมานชาติ. (2553). เอกสารประกอบการสอนรายวิชา 2007 108 มรดกสิ่งพิมพ์. อุบลราชธานี: คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.