ประจักษ์ บุญอารีย์ กล่าวว่า กะด้งเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนที่สำคัญและจำเป็นของชาวอีสาน เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ให้มีลักษณะเหมือนถาดกลม ขนาดใหญ่หรือเล็กแล้วแต่วัตถุประสงค์ในการใช้สอย ขนาดใหญ่โดยปกติจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ศอกเศษ หรือสานด้วยไม้ไผ่สามปล้อง ขนาดเล็กเรียกว่า “กะเบียน” หรือ “กะด้งน้อย” ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ฟุต กะด้งมักแบ่งประมาณตามลักษณะการใช้ เช่น กะด้งม้อน (ใช้เลี้ยงไหม) กะด้งฝัดข้าว (ใช้ฝัดข้าว) กะด้งพาข้าว หรือ กระเบียน (ใช้วางรองสำรับกับข้าว) กะด้งตากปลา (ใช้ตากปลา) ฯลฯ ชาวอีสานสมัยก่อนใช้กะด้งในกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ชื่อบอกประเภทกะด้ง ระบุการใช้งานของกะด้ง เช่น กะด้งฝัดข้าวใช้ฝัดข้าว กะด้งม้อนใช้ใส่ตัวไหม ฯลฯ
การสานกะด้ง โดยปกติจะสานด้วยไม้ไผ่ จักตอกแบนเหลาเรียบ สานด้วยลายสอง ลายสาม ลายคุบ อาจจะสานด้วยลายขัดดีให้สวยงาม นอกจากกะด้งฝัดข้าวสานด้วยลายเฉพาะเพื่อให้เกิดความแข็งแรงทนทานเป็นพิเศษ เมื่อสานได้ขนาดตามต้องการแล้ว จึงเข้ากรอบเรียกว่า “ขอบกะด้ง” ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ตัดเป็นวงกลมประกบกันให้แผ่นฝากะด้งอยู่ตรงกลาง ตัดส่วนที่โผล่เหนือขอบวงกลมให้เรียบร้อย จึงมัดขอบกะด้งให้ติดกันแน่น ประกบแผ่นกะด้งไว้ตรงกลางอย่างหนาแน่น ด้านบนของขอบกะด้งทับด้วยเส้นตอกกลมหรือหวายปิดช่องว่างขอบกะด้งให้มิดชิด โดยปกติการสานกะด้งเป็นหน้าที่ของผู้ชาย เป็นความสามารถพื้นฐานของชายชาวชนบทอีสานทุกคน ความเรียบร้อยสวยงามของการสานกะด้ง และเครื่องมือเครื่องใช้ในบ้านอื่น ๆ จะเป็นเครื่องบ่งบอกความสามารถและนิสัยใจคอของผู้ชายในบ้านเรือน
จำนวน : 3 ชิ้น
กระด้ง จำลอง
ลักษณะ : สานด้วยไม้ไผ่ ลายลูกแก้ว ขอบไม้ไผ่ มัดขอบด้วยฟาง
ขนาด : เส้นผ่าศูนย์กลาง 7.5 เซนติเมตร ขอบสูง 0.5 เซนติเมตร
สานโดย : ผง บัวใหญ่ อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
บริจาคโดย : ประทับใจ สิกขา โครงการรวบรวมข้อมูลงานหัตถกรรมเครื่องจักสานไม้ไผ่และหวาย
กระด้ง
ลักษณะ : รูปทรงกลมแบน ทำด้วยไม้ไผ่เหลาแบนขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร สานด้วยลายสาม
ขนาด : เส้นผ่านศูนย์กลาง 51เซนติเมตร ขอบไม้ไผ่สูง 2.5 เซนติเมตร ร้อยด้วยไนล่อน
บรรณานุกรม :
ประจักษ์ บุญอารีย์. (2542). กะด้ง : ภาชนะสาน ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 1. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 121
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. (2558). พจนานุกรมหัตถกรรมเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ