คณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ห้องสมุดมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค ได้รวบรวมทรัพยากรสารนิเทศที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นของตนเพื่อรองรับการศึกษาเกี่ยวกับท้องถิ่นในเชิงบูรณาการ และเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ที่มุ่งเน้นการกระจายความเจริญสู่ชุมชน นอกจากนี้ ยังเป็นการกระตุ้นให้ห้องสมุดและมหาวิทยาลัย มีบทบาทในการให้บริการแก่ชุมชนด้วย เพราะหากมหาวิทยาลัยใดมีข้อมูลท้องถิ่นมากก็ย่อมมีบทบาทต่อชุมชนมากขึ้นด้วย ที่สำคัญที่สุดก็คือการมีข้อมูลท้องถิ่นถือเป็นการสร้างอัตลักษณ์ทางข้อมูลให้แก่มหาวิทยาลัยด้วย ประการสุดท้ายคือในการจัดสร้างข้อมูลท้องถิ่นนั้น เป็นการทำให้ห้องสมุดมีบทบาทสำคัญในเครือข่ายสารนิเทศ เนื่องจากห้องสมุดแต่ละแห่งจะเป็นแหล่งข้อมูลเฉพาะด้านที่ช่วยให้สถาบันอื่นๆ ในเครือข่ายได้ใช้ประโยชน์ ดังนั้นคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่นจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การจัดตั้งข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัย เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ
จากที่ประชุมของคณะกรรมการอำนวยการ ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 14-15 กรกฎาคม 2530 มีมติให้ห้องสมุดแต่ละแห่งดำเนินการ จัดเก็บรวบรวม บริการและแลกเปลี่ยนข้อมูลท้องถิ่นโดยใช้ชื่อว่า คณะทำงานสร้างฐานข้อมูลท้องถิ่น ต่อมาเพื่อให้เกิดความชัดเจนในบทบาทหน้าที่คณะทำงานจึงมีมติให้เปลี่ยนชื่อคณะทำงาน ในการประชุมของคณะทำงานสร้างฐานข้อมูลท้องถิ่น ครั้งที่ 2/2536 วันที่ 27-28 พฤษภาคม 2536 โดยให้เปลี่ยนชื่อจาก คณะทำงานสร้างฐานข้อมูลท้องถิ่น เป็น คณะทำงานข้อมูลท้องถิ่นโดยกำหนดหน้าที่คณะทำงานดังนี้

1. จัดทำข้อมูลท้องถิ่นให้สมบูรณ์
2. จัดสร้างฐานข้อมูลท้องถิ่นให้สมบูรณ์และทันสมัย
3. เผยแพร่ข้อมูลท้องถิ่นให้กว้างขวาง
 
ในระยะเริ่มก่อตั้งมีคณะทำงานจากสถาบันต่างๆ จำนวน 10 สถาบัน ได้แก่ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, สถาบันวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และวิทยาเขตปัตตานี, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยบูรพา, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร, สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้
 
ปัจจุบันคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น ได้เติบโตขึ้นพร้อมกับมีเครือข่ายมากขึ้น ตามข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคโดยมีสถาบันเข้าร่วมเป็นเครือข่ายทั้งสิ้น 20 สถาบัน ได้แก่
  1. ศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  2. กลุ่มภารกิจจดหมายเหตุและสารนิเทศท้องถิ่น สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้
  3. ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา
  4. ข้อมูลท้องถิ่น สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร
  5. ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  6. ศูนย์อีสารสนเทศ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  7. สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยนครพนม
  8. ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  9. เครือข่ายสารสนเทศนครราชสีมา ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  10. งานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  11. งานศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตกหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  12. นนทบุรีศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  13. สำนักหอสมุด กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยเขตกำแพงแสน
  14. ศูนย์ข้อมูลภาคตะวันออก สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยบูรพา
  15. ห้องสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา
  16. โครงการคลังเอกสารทักษิณคดีและหนังสือหายาก ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  17. ข้อมูลภาคใต้และสิ่งพิมพ์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  18. ข้อมูลจังหวัดชายแดนภาคใต้ สังกัดงานบริการสารสนเทศ ฝ่ายหอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  19. ห้องข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยทักษิณ
  20. ห้องสมุด มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

เอกสารอ้างอิง

กรกมล รามบุตร. (2535)."โครงการจัดตั้งข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค: ข้อมูลท้องถิ่น".

         วารสารสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2,ฉบับข้อมูลภาคเหนือ.