โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เดิมชื่อ "โรงพยาบาลอุบลราชธานี" ได้ก่อสร้างในปี พ.ศ.2478 ในสมัย พ.ต.อ.พระขจัดทารุณกรรม เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้นได้พิจารณาเห็นว่าจังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาล ยังขาดสถานพยาบาลอันทันสมัย มีเพียงสุขศาลาห้องเล็ก ๆ ซึ่งชำรุดทรุดโทรมตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ตรงกับที่ตั้งสถานกาชาดที่ 7 ซึ่งไม่สามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยมารักษาให้เหมะสมกับเป็นจังหวัดสำคัญได้ จึงได้หาวิธีที่จะได้สถานที่และเงินมาก่อสร้างโรงพยาบาลที่ทันสมัยเป็นการถาวร สามารถอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่เจ็บไข้ต่อไปในที่สุด หม่อมเจ้าอุปลีสาน ชุมพล ได้ประทานที่ดินของพระองค์แปลงหนึ่งที่สวนโนนดง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของสถานีตำรวจ อันเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลปัจจุบันนี้ อยู่ห่างจากตัวเมือง 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 27 ไร่ ให้ทางราชการ โดยมีเงื่อนไขว่าทางจังหวัดจะต้องใช้สถานที่ที่ประทานให้นี้สำหรับโรงพยาบาลประจำจังหวัดบริการผู้ป่วยทั้งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พลตรีพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ผู้เป็นบิดา ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การก่อสร้างโรงพยาบาลกระทรวงมหาดไทยได้ตกลงกับการะทรวงการคลังให้สั่งจ่ายเงินส่งเสริมเทศบาลมาตั้งจ่ายในการก่อสร้างโรงพยาบาลเป็นเงิน 81,000 บาท อุปกรณ์เครื่องใช้ 6,000 บาท ค่าเวชภัณฑ์ 8,000 บาท การก่อสร้างได้ดำเนินการโดยเร่งด่วนสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี พ.ศ.2479 มีอาคารเริ่มแรก 15 หลัง ในจำนวนนี้มีอาคารรับผู้ป่วย 3 หลัง จำนวน 75 เตียง
ในปี พ.ศ.2480 พระปทุมเทวาภิบาล ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีในสมัยนั้นได้ติดต่อขอเงินสภากาชาดไทยมาสร้างถังพักน้ำท่อส่งน้ำจ่ายตามอาคารต่างๆ และสร้างทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารคนไข้ สร้างอาคารคนได้เพิ่มเป็น 100 เตียง เป็นคอนกรีต
ในปี พ.ศ.2534 ได้เริ่มสร้างตึกอุบัติเหตุ-วิชิต (คสล.ขนาด 5 ชั้น) เป็นเงินทั้งสิ้น 54 ล้านบาท (งบปกติ 30 ล้านบาท งบเงินบำรุง 14 ล้านบาท งบบริจาค 14 ล้านบาท) จังหวัดอุบลราชธานีได้ขอพระราชทานทราบกราบทูลเชิญ สมเด็จฯพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารตึกอุบัติเหตุ-วิชิต ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2537
โรงพยาบาลแห่งนี้เปิดทำการเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2479 รวมเวลาทำการ 62 ปี และในปี พ.ศ.2511 ได้เปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลนี้ใหม่ "โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี"
เรือน 2 กำลังก่อสร้างทางเดินเชื้อมไปตึกศัลยกรรม สร้างสมัยนายแพทย์พิสุทธิ์ อุตตะโมท เป็นผู้อำนวยการ พ.ศ. 2510
ตึกสงฆ์อาพาธ พ.ศ. 2504
เรือน 2 รับผู้ป่วยศัลยกรรม พ.ศ. 2503
เรือนคนไข้ใกล้วัดสารพัดนึก สร้างสมัยนายแพทย์พิสุทธิ์ อุตตะโม เป็นผู้อำนวยการ พ.ศ. 2510
วางศิลาฤกษ์ตึกอำนวยการ เมื่อสมัย นายแพทย์ชลวิชช์ ชุติกร เป็นผู้อำนวยการ ระหว่าง พ.ศ. 2484-2509
ภาพถ่ายทางอากาศ (ก่อนปี 2520) โรงเรียนผู้ช่วยพยาบาลหรือวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีในปัจจุบัน