แก่งสะพือ มาจากคำว่า "ซำพือ" (ภาษาส่วย หรือ กูย) แปลว่า งูใหญ่ ตามลักษณะของแก่ง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร แก่งสะพือเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติตามสภาพภูมิศาสตร์ซึ่งมีชื่อเสียงมานานคู่กับจังหวัดอุบลราชธานี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์เคยเสด็จประพาสแก่งสะพือแล้ว ความงดงามของแก่งเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประพันธ์เพลงจินตนาการตามธรรมชาติให้นักร้องผู้มีชื่อเสียง เช่น ทูล ทองใจ ขับร้องมาแล้ว ปัจจุบันแก่งสะพือได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลทำให้น้ำท่วมแก่ง จึงได้เกิดข้อตกลงร่วมกันคือ เมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้นให้ทางเขื่อนปากมูลปล่อยน้ำออกเพื่อลดระดับน้ำลงจนสามารถชมเกาะแก่งได้ ชาวอุบลราชธานีนิยมไปเที่ยวชมแก่งสะพือกันอย่างคึกคักในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ตำนานสะพือ
ตำนานของแก่งสะพือเป็นเรื่องราวของเทวรูปที่สร้างจากแก่งหินขนาดใหญ่อยู่ในหลืบถ้ำกลางแม่น้ำมูล บริเวณแก่งสะพือ เมื่อฤดูแล้งน้ำแห้งขอดจึงมองเห็นพระพือซ่อนอยู่ในถ้ำใต้แก่งหิน เชื่อกันว่าพระพือเป็นเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดบนบานสิ่งใดแล้วย่อมได้ตามประสงค์ และหากผู้ใดบนแล้วไม่ทำตามคำขอจะมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา หนุ่ม ๆ สาว ๆ ชาวอำเภอพิบูลมังสาหารไปสาบานรักต่อหน้าพระพือ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เมื่อเล่นน้ำที่แก่งสะพือ แล้วจะเลยลงไปใต้น้ำสาบานรัก ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2500 นายอำเภอพิบูลมังสาหารพร้อมด้วยพระสงฆ์ และประชาชนต่างร่วมกันอัญเชิญพระพือไปประดิษฐาน ณ วัดสระแก้ว ริมฝั่งแม่น้ำมูลใกล้แก่งสะพือ เป็นบริเวณที่เคยมีซากปรักหักพังของสิ่งปลูกสร้างสมัยอาณาจักรเจนละ ซึ่งบางส่วนได้ถูกเคลื่อนย้ายไปตามที่ต่าง ๆ ในสมัยต่อมา เช่น วัดสุปัฏนาราม และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี มีเหลือเพียงเล็กน้อยเนื่องจากถูกทับถม ไปในการก่อสร้างสมัยใหม่
แก่งสะพือ พ.ศ. 2514
แก่งสะพือฤดูน้ำหลาก