เจ้าเมืองอุบลราชธานีหรืออาญาสี่ ถือเป็นราชสกุลที่มาจากเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า เมื่อท่านเหล่านี้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ตามขนบประเพณีให้เชิญศพขึ้นเมรุรูปนกหัสดีลิงค์หรือนกสักไดลิงค์ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของเจ้านายเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า แล้วชักลากออกไปบำเพ็ญกุศลที่ทุ่งศรีเมืองเป็นเวลา 3 วัน การทำศพแบบนี้จะจำกัดเฉพาะกลุ่มเจ้านายเมืองอุบลราชธานีเท่านั้น มาภายหลังเมื่อกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ปกครองเมืองอุบลราชธานี ให้ยกเลิกประเพณีการเผาศพที่ทุ่งศรีเมือง และอนุญาตให้พระเถระที่มีคุณธรรมเมื่อมรณภาพให้จัดประเพณีการทำศพแบบนกหัสดีลิงค์ได้ด้วย โดยเริ่มจากท่านธรรมบาลผุย หลักคำเมือง เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม และนับเป็นพิธีศพแบบนกหัสดีลิงค์เป็นตัวสุดท้ายที่ได้รับเกียรติให้เผาที่ที่ทุ่งศรีเมือง หลังจากนั้นไม่มีการเผาศพที่ทุ่งศรีเมืองอีกเลย จนกระทั้งปี 2558 ชาวอุบลราชธานีได้รื้อฟื้นพิธีทำศพแบบนกหัสดีลิงค์ขึ้นอีกครั้งในพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระเทพกิตติมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาวนาราม ณ เมรุชั่วคราวปราสาทนกหัสดีลิงค์ มณฑลพิธีทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม 2558
การเชิญศพขึ้นสู่หลังนกและจัดกระบวนแห่
ในพิธีญาติพี่น้องจะแต่งตัวนุ่งขาวห่มขาว เมื่อพร้อมกันแล้วญาติผู้ใหญ่ที่เป็นประธานจะนำขันห้า ประกอบด้วยเทียน 5 คู่ ดอกไม้ 5 คู่ ขอขมาศพ แล้วนำศพสู่เมรุนก เมื่อตั้งศพเรียบร้อยแล้ว นิมนต์พระเถระทั้งสี่ขึ้นนั่งบนที่นั่งหลังนกเพื่ออ่านคัมภีร์บนนกนั้นด้วย กระบวนแห่ศพจะนำเชือกหนังอย่างดีผูกมัดกับฐานนกซึ่งทำเป็นตะเข่ใหญ่ 3 เส้น แล้วจัดคนเข้าแถวตามเส้นเชือกนั้นเป็น 3 แถว กระบวนสุดคือต้นแถวจะมีคนหามฆ้องใหญ่ตีให้สัญญาณนำหน้า แถวถัดมาก็จะเป็นกระบวนพิณพาทย์เครื่องประโคมแห่ มีคนถือธงสามหางและธงช่อธงชัย กระบวนหอก กระบวนดาบ กระบวนช้าง กระบวนเครื่องยศของผู้ตาบ แล้วจึงถึงกระบวนชักลากด้วยเชือกสามสายดังกล่าว เมื่อได้สัญญาณแล้วก็จะพร้อมกันดึงนกเคลื่อนที่แห่ไปตามถนนจนถึงวัด กระบวนท้ายคือกระบวนผู้ที่จะใช้ท่อนไม้งัดตะเข่นกใหญ่หากติดขัด ในกระบวนแห่นกใหญ่จะมีคนมาร่วมกระบวนมาก เรียกว่าพร้อมทั้งบ้านทั้งเมืองเลยทีเดียว เพราะถือว่าเป็นการแสดงความเคารพรักแก่ผู้ตายในครั้งสุดท้าย แม้แต่เจ้านายที่เป็นญาติกันที่อยู่เมืองอื่นก็มาร่วมงานด้วย
พิธีฆ่านก
เจ้าภาพมอบให้ผู้มีเชื้อสายเจ้านายคือ อัญญาชาย 2 คน หญิง 2 คน เชิญผู้ฆ่านกไปฆ่านก เมื่อคนทรงได้รับเชิญแล้วจะเข้าประทับทรงเชิญเจ้านางสีดามารับเชิญ และเรียกค่าบูชาครูก่อนทำพิธีฆ่านก เรียกว่า คายหน้า
เมื่อคนทรงทำพิธีบวงสรวงในตอนเช้าก่อนเที่ยงแล้ว ก็จะเข้าประทับทรง แล้วทรงเครื่อง สวมหมวก ถือศร แล้วก็ร่ายรำไปขึ้นเสลี่ยงเข้ากระบวนแห่ไปบริเวณงานศพที่มีนกใหญ่ตั้งอยู่ โดยมีคนขึ้นสัปทนแดงให้ มีทหารถือหอกง้าวแห่ตามไปพร้อมตน พร้อมกล้วย อ้อย และบริวารตามไปเป็นแถว เมื่อไปถึงบริเวณงาน กระบวนนางทรงฆ่านกก็จะแห่ไปรอบ ๆ นก และทำท่าล่อหลอกนก ฝ่ายนกเมื่อเห็นคู่ต่อสู้ไปถึงก็จะยกงวงร้องเสียงดังและกลอกตากระพือ แกว่งหู หันหน้าเข้าใส่คนฆ่านกประหนึ่งต่อสู้กัน ฝ่ายข้างนางทรงผู้ฆ่านก พอได้ที่ก็จะยิงศรใส่นกสามลูกดอก เมื่อศรปักอกนก คนอยู่ข้างในร่างนกก็จะเทสีแดงออกมาตามรูลูกศร ประหนึ่งเลือกนกออก เมื่อนกถูกศรก็จะดิ้นรนกระวนกระวายจนเงียบไป งวงตก ตาหลับ เป็นสัญญาณว่านกตาย ช่างนกก็จะนำผ้าขาวมามัดส่วนหัวนก แล้วหันหน้านกเข้าไปทางศพที่ตั้งอยู่ ก็เป็นอันเสร็จพิธีฆ่านก แล้วเตรียมการเผาศพ ก่อนมีพิธีฆ่านก เจ้าภาพจะจัดพิธีทอดผ้าทางศาสนาเสียก่อน
หลังจากเผานกและเมรุแล้ว คืนนั้นจะมีมหรศพสมโภชอัฐิไปด้วย รุ่งเช้าเก็บอัฐและเดินสามหาบ นำอัฐิไปก่อธาตุบรรจุต่อไป เป็นอันเสร็จพิธีทำศพแบบนกหัสดีลิงค์