วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตั้งอยู่ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร เป็นวัดธรรมยุตวัดแรกในเมืองอุบลราชธานี อยู่ริมแม่น้ำมูล ทางทิศใต้ของศาลากลางจังหวัด เขตเทศบาลเมืองอุบลราชธานี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2396 สมัยพระพรหมราชวงศา (พระอุปราชกุทอง) เป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานีคนที่ 3 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สร้างวัดเสร็จและพระราชทานนามว่า "วัดสุปัฏนาราม" มีความหมายของคำ 2 นัย คือ หนึ่ง หมายถึงวัดที่มีสถานที่ตั้งเหมาะสมเพื่อเป็นท่าเรือดี เพราะอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูลที่สะดวกในการเดินทางและการบิณฑบาต สองหมายถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศาสนสถานเปรียบดั่งท่าเรือดีที่อำนวยความสะดวกให้แก่มวลมนุษย์ข้ามพ้นโอฆสงสารไปได้
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธาสร้างวัดสุปัฏนาราม โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้กรมการเมืองอุบลราชธานี มีพระพรหมราชวงศา (พระอุปราชกุทอง) เป็นประธานเลือกพื้นที่และดำเนินการสร้างวัดเมื่อ พ.ศ. 2393 ณ บริเวณท่าเหนือ ระหว่างบ้านบุ่งกะแซว (ปัจจุบันเรียกว่าบุ่งกะแทว) โดยเฉพาะเป็นสถานที่สงัดเหมาะในการบำเพ็ญศาสนกิจและสะดวกโคจรบิณฑบาต แล้วประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ.2396 ทั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระพรหมราชวงศาอาราธนาพระพันธโลเถร (ดี) และพระเทวธมมี (ม้าว) มาครองวัด จนกระทั้ง พ.ศ.2478 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า วัดสุปัฏนารามวรวิหาร
พระอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร สร้างเมื่อ พ.ศ.2459 แล้วเสร็จใน พ.ศ.2473 หลวงสถิตย์นิมานการ (ชวน สุปิยพันธุ์) เป็นผู้ออกแบบก่อสร้างที่ผสมผสานระหว่างศิลปะตะวันออกและศิลปะตะวันตกอย่างกลมกลืน รูปแบบสถาปัตยกรรมจำแนกเป็น 3 ส่วน คือหลังคาเป็นแบบไทย ส่วนกลางเป็นแบบยุโรป (เยอรมัน) และส่วนฐาน เป็นแบบขอมโบราณ ลักษณะโดดเด่นประการหนึ่งคือ ไม่มีหน้าต่าง แต่เป็นประตูโดยรอบ สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ริมฝั่งแม่น้ำมูล มีความแตกต่างจากอุโบสถอื่นชัดเจน คือ หน้าบันพระอุโบสถมีใบเสมาตั้งโดยรอบ เป็นโบราณสถานที่งดงามแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี ภายในพระอุโบสถมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปสำคัญเรียกว่า พระสัพพัญญูเจ้า เป็นโลหะหล่อขัด สร้างเมื่อ พ.ศ.2459 และมีพระพุทธรูปสำคัญอีกหลายองค์