ประวัติการสร้างเส้นทางรถไฟสายนครราชสีมา – อุบลราชธานี
หลังจากการก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมา แล้วเสร็จและเปิดการเดินรถ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2443 จนถึงปี พ.ศ. 2460 จึงได้เริ่มทำการก่อสร้างทางรถไฟต่อไปยังสถานีอุบลราชธานี โดยเป็นทางกว้าง 1.00 เมตร เพื่อให้สอดคล้องกับขนาดทางรถไฟจากกรุงเทพ – นครราชสีมา ซึ่งเดิมได้วางเอาไว้ขนาดกว้าง 1.435 เมตร และอยู่ในระหว่างการปรับเปลี่ยนให้มีความกว้าง 1.00 เมตร เท่ากับเส้นทางสายใต้
เส้นทางสายนี้ นับว่าเป็นการก่อสร้างที่ค่อนข้างราบรื่น เพราะเป็นพื้นที่ราบลุ่มใช้เจ้าหน้าที่และคนงานทั้งหมดเป็นคนไทย ไม่มีชาวต่างด้าว กรมรถไฟหลวงยังคงได้รับความร่วมมือจากกองทหารช่างให้มาช่วยทำการวางราง จากสถานีนครราชสีมา ผ่านสถานีชุมทางถนนจิระ ถึงสถานีท่าช้าง รวมระยะทาง 21 กิโลเมตร เปิดการเดินรถได้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 เป็นต้นมา การก่อสร้างได้ดำเนินต่อไป และสามารถเปิดการเดินรถได้ เป็นช่วง ๆ ตามลำดับ ดังต่อไปนี้
1 เมษายน พ.ศ. 2468 เปิดเดินรถจาก สถานีท่าช้าง ถึง สถานีบุรีรัมย์ ระยะทาง 91 กิโลเมตร
1 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 เปิดเดินรถจาก สถานีบุรีรัมย์ ถึง สถานีสุรินทร์ ระยะทาง 44 กิโลเมตร
1 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 เปิดเดินรถจาก สถานีสุรินทร์ ถึง สถานีห้วยทับทัน ระยะทาง 61 กิโลเมตร
1 สิงหาคม พ.ศ. 2471 เปิดเดินรถจาก สถานีห้วยทับทัน ถึง สถานีศรีสะเกษ ระยะทาง 34 กิโลเมตร
1 เมษายน พ.ศ. 2473 เปิดเดินรถจาก สถานีศรีสะเกษ ถึง สถานีอุบลราชธานี ระยะทาง 61 กิโลเมตร
รวมระยะทางทั้งสิ้น จากนครราชสีมา – อุบลราชธานี ทั้งสิ้น 312 กิโลเมตร และเนื่องจากสถานีปลายทางที่อุบลราชธานีนี้ อยู่ในเขตอำเภอวารินชำราบ ห่างจากฝั่งแม่น้ำมูล กรมรถไฟจึงได้วางทางแยก จากสถานีบุ่งหวาย ระยะทาง 7 กิโลเมตร ไปยังสถานีโพธิ์มูล ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล เพื่อความสะดวกในการรับส่งสินค้าที่มาจากทางเรือในแม่น้ำมูล
ที่มา : รถไฟไทยดอทคอม. ตำนานแห่งรถไฟไทย, วันที่ 29 ตุลาคม 2558. http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=17.