ในการสร้างเมืองอุบลราชธานีของพระปทุมวรราชสุริยวงศ์นั้น ใช้เวลาในการสร้าง 2 ปีจึงแล้วเสร็จ ได้มีการสร้างถนนสายแรกคือถนนเขื่อนธานี โดยการพูนดินเป็นเขื่อน และสร้างเชิงเทินดินรอบเมืองด้านเหนือ แนวถนนเขื่อนธานีมีประตูเข้าเมือง 4 ประตู ทำค่ายคูประตูเมืองด้วยเสาไม้แก่นรอบเมือง 3 ด้าน ประตูทั้งสี่ตั้งอยู่สี่แยกถนนหลวง สี่แยกถนนอุปราช สี่แยกถนนราชบุตร สี่แยกถนนราชวงศ์ ตัดกับถนนเขื่อนธานีตลอดสาย ถนนหนทางในเมืองจะเป็นระเบียบ ในอดีตการคมนาคมโดยทางบกส่วนใหญ่จะใช้เกวียน ทางน้ำจะใช้เรือ เพราะยังไม่มีรถอย่างทุกวันนี้ รถม้า รถลากมีครั้งแรกในสมัยที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์มาประทับที่เมืองอุบลราชธานี นับจากนั้นมามีการตัดถนนหนทางอย่างเป็นสัดส่วนและเรียบร้อย มีการนำเอาชื่อเจ้านายของเมืองอุบลราชธานีมาใส่เป็นชื่อถนน เช่น ถนนพรหมเทพ หมายถึง เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ ถนนพรหมราช หมายถึง พระพรหมราชวงศาเจ้าเมืองอุบลราชธานี ถนนเขื่อนธานี หมายถึง ถนนตามแนวกำแพงดินของเมือง ถนนพิชิตรังสรรค์ หมายถึง เสด็จในกรมหลวงพิชิตปรีชากรที่เป็นข้าหลวงต่างพระองค์องค์แรก ถนนสรรพสิทธิ์ก็เช่นกัน ระยะแรกถนนเหล่านี้เป็นถนนลูกรัง
จังหวัดอุบลราชธานีนั้นมีแม่น้ำมูลไหลผ่านตัวเมือง การเดินทางข้ามฟากระหว่างวารินชำราบกับเมืองอุบลราชธานีนั้น แต่ก่อนอาศัยเรือ เรือยนต์ ไม่มีสะพานข้ามเช่นปัจจุบัน การขนส่งของหนักก็ต้องลงแพไม้ไผ่มีคนถ่อข้าม การเดินทางไปกลับอำเภอพิบูลมังสาหารใช้เส้นทางที่ท่าเรือซึ่งมี 2 ท่า คือท่าขุนพงษ์ (ท่าตลาดหลวงเก่า) และท่ากวางตุ้ง (ท่าวัดหลวง) ในปี พ.ศ.2496 จึงได้มีการสร้างสะพานเพื่ออำนวยความสะดวกในการข้ามไปมาระหว่างอำเภอเมืองและอำเภอวารินชำราบ ชื่อ “สะพานเสรีประชาธิปไตย” เป็นสะพานคอนกรีตที่ยาวที่สุดในภาคอีสาน และยังได้สร้างสะพานข้ามลำน้ำอีกหลายแห่งเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและเป็นสาธารณประโยชน์ นอกจากนี้ที่สำคัญมีการสร้างทางรถไฟไปสู่ภาคอีสานสายแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และได้ขยายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน รถไฟที่เปิดเดินถึงอุบลราชธานีสำเร็จเสร็จสิ้นทั้งเส้นทางเมื่อ พ.ศ. 2473 ยังผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก เพราะทำให้เกิดความสะดวกในการขนส่งสินค้าจากเมืองต่าง ๆ มายังกรุงเทพฯ
การเดินทางโดยใช้เรือ
การเดินทางโดยใช้ระแทะ
การเดินทางโดยใช้เกวียน
การเดินทางโดยใช้เรือข้ามฟากระหว่างอำเภอวารินชำราบ-อำเภอเมืองอุบลราชธานี
การเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง หรือ รถเมล์ หรือ รถบัส
การเดินทางโดยรถไฟ
สามล้อปั่น