การทำบุญต่าง ๆ ตามประเพณี ก็ต้องคิดเหมือนกัน เมื่อคิดแล้วเราก็จะเห็นความจริงว่า ทำเพื่ออะไร และเมื่อเข้าใจเหตุของเรื่องที่ทำแล้ว แม้ว่าเราจะทำไม่เหมือนกับที่คนอื่นเขาทำก็ยังได้ เช่นว่า พอถึงวันสารท แทนที่เราจะไปทำบุญตักบาตร ให้อาหารมันล้นเกินไป เราก็เปลี่ยนเป็นเรื่องอื่นเสีย สมมติว่าทำบุญด้วยปัจจัยบำรุงวัดก็ได้ บำรุงอะไร ๆ อื่น ที่เป็นประโยชน์แก่ชุมนุมชนก็ได้ เช่น บำรุงโรงเรียน บำรุงโรงพยาบาล สงเคราะห์คนชราคนพิการ อะไร ๆ ก็ได้ทั้งนั้น เพราะการกระทำเช่นนั้นก็ถือว่า เป็นการสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ เป็นบุญเป็นกุศล ถ้าหากจะก้าวหน้าไปกว่านั้น เมื่อเรานึกถึงบรรพบุรุษของเรา เราก็มานั่งสงบจิตสงบใจ แล้วก็มอดดูตัวของเราเอง ว่าเรานี่เป็นลูกเป็นหลานของบรรพบุรุษ เราเป็นอยู่อย่างไรในเวลานี้ เราปฏิบัติตนเพื่อรักษาวงศ์สกุลของบรรพบุรุษไว้หรือเปล่า หรือว่าเราประพฤติตนไปในทางทำลายคุณงามความดี ทรัพย์สมบัติของบรรพบุรุษของเรา เรานั่งลงแล้วก็พิจารณาทบทวนศึกษาดูตัวเอง เพื่อให้รู้จักตัวเอง แล้วถ้าเห็นว่ามันมีอะไรบกพร่อง ไม่ดีไม่งามอยู่ในตัว พอเรานึกถึงบรรพบุรุษเราก็เลิกละจากการปฏิบัติในสิ่งอันไม่เหมาะไม่ควรเหล่านั้นเสีย หันมาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่อไป อันนี้แหล่ะเรียกว่าดำรงวงศ์สกุลของเราไว้ อ่านต่อ…
ภิกขุ ปัญญานันทมุนี. (2515). ปฏิรูปประเพณีให้ได้ประโยชน์มาก. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.