ทุก ๆ คนไม่ว่าจะเป็นใครย่อมปรารถนาความสุขไม่ปรารถนาความทุกข์กันทั้งนั้น แต่บางคนก็มีความสุขสมตามความปรารถนา แต่บางคนก็ไม่มีความสุขสมตามความปรารถนา พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดประชาชนนั้น มิใช่ว่าพระองค์จะแสดงธรรมให้ประชาชนทุกคนไปสวรรค์ ไปนิพพาน พระองค์ทรงแสดงธรรมตามความเหมาะสมแก่บุคคลนั้น ๆ คือว่าแสดงธรรมให้ได้รับประโยชน์เป็นขั้น ๆ ถ้าผู้ใดต้องการประโยชน์สุขในปัจจุบันพระองค์ก็ทรงแสดงธรรม เพื่อให้เขาได้รับประโยชน์สุขในปัจจุบัน ส่วนผู้ใดต้องการประโยชน์สุขในภายหน้า พระองค์ก็แสดงธรรมให้เขาได้รับประโยชน์สุขในภายภาคหน้า ส่วนท่านผู้ใดต้องการประโยชน์สุขชั้นยอด คือพระนิพพาน ทรงแสดงตามความต้องการ ตามความเหมาะสม ตามอุปนิสัยใจขอของเขา พระองค์ทรงเคยเป็นคฤหัสถ์ คือเป็นผู้ครองเรือนและมีความสุขอย่างที่คฤหัสถ์จะพึงมี เกือบจะกล่าวได้ว่าชีวิตคฤหัสถ์ของพระพุทธเจ้านั้นมีความสุขอย่างที่หาใครทัดเทียมได้ยาก มีพระมเหสีก็เป็นพระมเหสีที่ดีที่สุด แล้วพระองค์ยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าฟ้าชาย เป็นมกุฎราชกุมารที่จะได้ครอง ราชสมบัติต่อไป แต่พระองค์ก็เห็นว่าความสุขนี้เป็นความสุขที่ไม่แน่นอน เป็นอนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง สมบัติกับวิบัติเป็นของคู่กัน พระองค์จึงได้เสด็จออกแสวงหาความสุขที่ยั่งยืน คือ อมตมหานิพพาน เมื่อพระองค์ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ก็แสดงธรรมโปรดสัตว์ สำหรับคฤหัสถ์ พระองค์ก็ไก้แสดงธรรมเพื่อให้เขาได้รับประโยชน์อย่างคฤหัสถ์ คือ ทรงแสดงให้เขามีความสุขอย่างคฤหัสถ์ สุขของคฤหัสถ์นั้นพระองค์ทรงแสดงไว้ ๔ ประการด้วยกันคือ ๑. ความสุขที่เกิดจากการมีทรัพย์, ๒. ความสุขที่เกิดจากการจ่ายทรัพย์บริโภค, ๓. ความสุขที่เกิดจากการไม่ต้องเป็นหนี้เขา, ๔. ความสุขที่เกิดจากการทำงานไม่มีโทษ คฤหัสถ์ผู้ใดมีความสุข ๔ ประการนี้ เชื่อว่ามีความสุขสมบูรณ์ อ่านต่อ…
พระธรรมวโรดม. (ม.ป.ป.).ความสุขของคฤหัสถ์. กรุงเทพฯ : มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย