เหตุเกิดเมื่อร้อยยี่สิบห้าปีมาแล้ว อ้ายพลายอีทรัพย์ทาสคุณสุริยภักดี ทำเรื่องราวยื่นต่อเจ้าพระยา ธรรมาว่าคุณสุริยภักดีรักใคร่กับเจ้าจอมอิ่มในรัชกาลที่ 3 คุณสุริยภักดีกับเจ้าจอมอิ่มติดต่อให้ข้าวของกัน และเจ้าจอมอิ่มสั่งให้มาบอกกับคุณสุริยภักดีว่าจะลาออกจากราชการมาอยู่บ้านพ่อแม่เสียชั่วคราวก่อน แล้วจึงให้คุณสุริยภักดีส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอ พระสำราญราชหฤทัย (อ้าว) รู้เห็นเป็นใจด้วย จะช่วยสู่ขอเจ้าจอมอิ่มต่อพระยามหาเทพ ผู้เป็นบิดาเจ้าจอมอิ่มให้ เมื่อเจ้าพระยาธรรมานำความกราบบังคมทูล ก็โปรดฯ ให้ กรมหลวงรักษ์รณเรศร์ (หม่อมไกรสร ต้นตระกูลพึ่งบุญ) เป็นตุลาการ ชำระได้ความว่า คุณสุริยภักดีและเจ้าจอมอิ่ม เป็นแต่ให้หนังสือเพลงยาวและข้าวของกันเท่านั้น ไม่เคย พบปะพูดจากันที่ใด การชำระความได้เกี่ยวข้องไปถึงคนอื่นอีกถึง 7 คน คือ ผู้ที่รู้เห็น เช่น พระสำราญราชหฤทัย เป็นกรมวัง รู้แล้วก็นิ่งเสีย ตลอดจนคนอื่นที่เกี่ยวข้องกันทั้งสองฝ่าย หมอดูหมอเสน่ห์ที่รู้เรื่อง เมื่อตุลาการนำความกราบบังคมทูลแล้ว ผู้ใหญ่เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าฯ มีพระกระแสรับสั่งให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ซึ่งขณะนั้นเป็นพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดีขึ้นไปเฝ้าฯ แล้วมีพระราชดำรัสว่า คุณสุริยภักดีนั้นยังเป็นหนุ่มคะนอง ย่อมจะทำอะไรผิดพลาดไปโดยไม่รู้ผิดรู้ชอบ ตุลาการก็ได้กราบบังคมทูลขึ้นมาแล้วว่า คุณสุริยภักดีมิได้พบปะกับเจ้าจอมอิ่มเลย จึงมีพระกรุณาจะยกโทษให้ แต่เมื่อเรื่องราวอื้อฉาวมีโจทก์ฟ้องขึ้นมาเช่นนี้ จะทรงพระกรุณานิ่งเสียก็ไม่ได้ จึงทรงพระราชดำริเห็นว่า สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยควรจะขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นมา และทำทัณฑ์บนไว้ให้แก่คุณสุริยภักดี ก็จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษให้ แต่สมเด็จ เจ้าพระยาองค์น้อย ท่านกราบบังคมทูลว่า ท่านเองเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย เมื่อบุตรของท่านเองทำผิดบทพระอัยการร้ายแรงถึงเพียงนั้น หาก ไม่ลงพระราชอาญาไปตามโทษานุโทษแล้ว ก็จะเสียหาย แก่แผ่นดินยิ่งนัก เหมือนกับว่าถ้าเป็นบุตรของท่านแล้วย่อมจะทำอะไรทำได้ไม่เป็นผิด จึงขอพระราชทานให้ลงพระอาญาตามแต่ลูกขุนจะปรึกษาโทษเถิด พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดฯ ให้ลูกขุนปรึกษาโทษตามที่ท่านกราบบังคมทูล ลูกขุนเชิญบทพระกฤษฎีกาออกมาดูแล้ว ปรากฎในบทพระกฤษฎีกาว่า ชายใดบังอาจสมรักด้วยนางใน ก็ให้ประหารชีวิตเสียทั้งชายหญิง ส่วนผู้ที่รู้เห็นเป็นใจ ก็ให้ประหารชีวิตเสียด้วย อ่านต่อ…
คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2514). โครงกระดูกในตู้. พระนคร : ชัยฤทธิ์.