วิถีแห่งความรู้แจ้ง

การเจริญสติ หรือ การทำความรู้ตัว เป็นวิถีทางที่ตรงไปตรงมาที่สุด ที่จะพาเราแหวกออกจากโลกของความปรุงแต่ง หรือความคิดนึกทั้งหลาย ซึ่งปิดกั้นเราไว้จากสัจธรรมที่แท้จริง ทันทีที่เราแยกตนเองออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งได้ จิตของเราจะมีคุณภาพที่จะมองเห็นปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏและเกิดดับ ได้แก่ จิตและเจตสิก อันเป็นฝ่ายนามธรรมและรูปธรรมทั้งปวง เมื่อจิตรู้แจ้งและปล่อยวางปรมัตถธรรม ฝ่ายรูปธรรมและนามธรรมได้แล้ว เราก็จะบรรลุถึงสัจจะอันแท้จริง ซึ่งอยู่เหนือความปรุงแต่งทั้งปวง การบรรลุถึงสัจจะที่จะเหนือความปรุงแต่ง จะกระทำไม่ได้ด้วยการปฏิบัติที่เป็นความปรุงแต่ง อาทิ การทำทาน การถือศีล และการทำสมาธิที่ถูกต้อง (ไม่ต้องกล่าวถึงการทำทาน การถือศีล และการทำสมาธิที่ผิด คือเจือด้วยโมหะและโลภะ) ตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดความตระหนี่ก็ทำทานเพื่อลดความตระหนี่ เมื่อถูกราคะและโทสะครอบงำจิตใจ จนล้นออกมาเป็นการทำผิดทางกายและวาจา ก็ถือศีลเพื่อเป็นกรอบกั้นการทำผิดทางกายและวาจาไว้ก่อน หรือเมื่อจิตฟุ้งซ่านก็ทำความสงบ เมื่อมีกามราคะก็พิจารณาอสุภะ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ แม้จะเป็นประโยชน์มากและควรทำ แต่ก็เปรียบเหมือนกับการแก้อาการของโรคเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นการขจัดต้นตอหรือสาเหตุของโรค อ่านต่อ…

มูลนิธิดวงแก้ว. (2543). วิถีแห่งความรู้แจ้ง. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.