ไหมพันธุ์ลูกผสมอุบลราชธานี 60-35

สถานีทดลองหม่อนไหมอุบลราชธานี ได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ไหมไทยลูกผสม โดยผสมพันธุ์ไหมอุบลราชธานี 60 กับนางน้อยศรีสะเกษ-1 ทำการทดสอบตามขั้นตอนของการปรับปรุงพันธุ์ จนกระทั่งได้พันธุ์ไหมไทยลูกผสมที่มีความแข็งแรง ขนาดลำตัวปานกลาง ลักษณะประจำพันธุ์ รังไหมสีเหลือง หัวท้ายป้านค่อนข้างกลม จำนวนไข่ไหมต่อแม่ 388 ฟอง อายุหนอนไหม 18 วัน เปอร์เซ็นต์ดักแด้สมบูรณ์ 94.9 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนักรังสด 1.40 กรัม น้ำหนักเปลือกรัง 22.5 เซนติเมตร เปลือกรัง 16.1 เปอร์เซ็นต์ ความยาวเส้นใยต่อรัง 519 เมตร ขนาดเส้นไหม 2.4 ดีเนียร์ การสาวง่าย 63 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตรังสดต่อแผ่น 13 – 18 กิโลกรัม ผ่านการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร เป็นพันธุ์รับรองในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2535 และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในปี พ.ศ. 2535 จึงได้ตั้งชื่อว่า “ไหมไทยลูกผสมอุบลราชธานี 60-35” หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “พันธุ์ดอกบัว”

พันธุ์ไหมลูกผสมอุบลราชธานี 60-35

ลักษณะเด่น

  1. เลี้ยงง่าย มีความแข็งแรงสูง เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย
  2. อายุหนอนไหมสั้น ทำให้ลดต้นทุนในการผลิตและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไหม
  3. ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองที่ใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ ประมาณ 30%
  4. สามารถเลี้ยงได้ผลดีตลอดฤดูฝนและฤดูหนาว

บรรณานุกรม

  • ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ตาก (2557). ไหมพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร. [ออนไลน์] . สืบค้นจาก http://qsds.go.th/qthaisilk_center/inside.php?com_option=page&aid=306&sub=305&site=tak
  • สมโพธิ อัครพันธุ์. (2539). การพัฒนาหม่อนไหมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์