ขี้เหล็กบ้าน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Senna siamea (Lam.) Irwin & Barneby

ชื่อวงศ์: LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE

ชื่อสามัญ: Cassod tree, Thai copper pod

ชื่อท้องถิ่น: ขี้เหล็กแก่น ขี้เหล็กบ้าน ขี้เหล็กหลวง ขี้เหล็ก

ลักษณะ: ไม้ยืนต้น สูงประมาณ 5-15 เมตร เปลือกมีสีเทาปนน้ำตาลอ่อน แตกตามความยาวของลำต้นเป็นร่องตื้น ๆ เรือนยอดทรงพุ่ม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกสลับมีใบย่อย 10-15 คู่ ออกตรงข้าม รูปไข่ปลายมน ฐานใบมน ดอกออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ออกตรงซอกใบหรือปลายกิ่ง สีเหลือง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีขาวปนเหลือง กลีบดอก 5 กลีบแยกออกจากกัน สีเหลือง ร่วงง่าย เกสรตัวผู้ 10 ตัว เกสรตัวเมีย 10 อัน รังไข่เหนือวงกลีบ (Superior ovary) ผลเป็นฝักแบน ผลแก่บิดงอเล็กน้อยแต่ละฝักมีเมล็ด 20-30 เมล็ด ออกดอกตลอดทั้งปี

ขี้เหล็ก ไม้ย้อมสีธรรมชาติ

ส่วนที่ใช้ : ใบสด

สีที่ได้: สีเหลือง สีเหลืองอมเขียว หรือ สีน้ำตาลเขียว

เทคนิควิธีการย้อมสี: การย้อมเส้นใยด้วยใบขี้เหล็กให้สีเส้นใยคุณภาพดีนั้น ใช้วิธีการสกัดสีโดยใช้ใบขี้เหล็กสดต้มกับน้ำหรือต้มกับน้ำผสม 1% กรดน้ำส้ม โดยใช้อัตราส่วน 1 : 2 การย้อมเส้นใยควรนำเส้นใยมาแช่ในสารละลายช่วยติดสีก่อนย้อม ได้แก่ สารละลายน้ำส้ม น้ำต้มใบยูคาลิปตัส และน้ำมะขามเปียก และนำเส้นใยไปย้อมด้วยกรรมวิธีย้อมร้อน นาน 1 ชั่วโมง จะได้เส้นใยสีเหลือง

ถ้าแช่เส้นใยในสารละลายจุนสีก่อนย้อม จะได้เส้นใยสีน้ำตาลเขียว และจากการทดลองสกัดสีใบขี้เหล็กบ้านโดยต้มใบแก่หนัก 200 กรัม และ 500 กรัมกับสารละลาย 1% กรดน้ำส้ม, 3% กรดน้ำส้ม และน้ำ เปรียบเทียบคุณภาพน้ำที่สีสกัดได้พบว่า น้ำสีที่สกัดได้ล้วนมีฤทธิ์เป็นกรด มี pHในช่วง 3.4 – 3.5, 3.12 และ 3.9 – 4.2 ตามลำดับ เมื่อย้อมเส้นใยด้วยสีสกัดใบขี้เหล็กบ้าน 500 กรัม/ลิตร ด้วยน้ำและ 10% กรดน้ำส้ม เส้นใยติดสีเหลืองอมน้ำตาล สีคงทนต่อแสงระดับดีมาก (ระดับ 5) และคงทนต่อการซักระดับดีและดีกว่าเมื่อย้อมด้วยสีที่สกัดน้ำสีด้วย 3% กรดน้ำส้ม สีที่สกัดจากใบขี้เหล็กบ้าน 200กรัม/ลิตรด้วยน้ำย้อมเส้นใยติดสีครีมอมเหลืองน้ำตาลอ่อนมาก และเส้นใยเป็นสีเขียวอมเหลืองเมื่อย้อมด้วยน้ำสีที่สกัดด้วยสารละลายกรดน้ำ ส้ม สีเขียวอมเหลืองที่ย้อมได้เปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาลเมื่อถูกแสง

จากการศึกษาผลของสารช่วยติดสีเข้มข้น 5% ต่อน้ำหนักไหม 10 ชนิด พบว่าสารช่วยติดสีที่ช่วยให้ย้อมเส้นใยได้สีเหลืองตามต้องการ และสีมีความคงทนต่อแสงดี สีไม่เปลี่ยนและซีดลงเพียงเล็กน้อย (ระดับ 4/5) รวมทั้งการตกติดผ้าอื่นน้อยมาก คือ จุนสี สารส้ม น้ำต้มใบยูคาลิปตัส การแช่เส้นใยสารละลายช่วยติดสีก่อนการย้อม ให้ผลการย้อมดีกว่าการแช่เส้นใยภายหลังการย้อมในน้ำย้อม (ย้อมพร้อมกัน) กรดอินทรีย์ที่ใช้เป็นสารช่วยติดสีและน้ำมะขามเปียก แม้มีผลให้สีที่ย้อมได้มีความคงทนต่อแสงและการซักดีแต่สีที่ได้สีเหลืองอ่อน จางมาก ส่วนสารช่วยติดสีพวกด่าง เส้นใยย้อมติดสีเขียวอมเหลืองซีด และสีเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มเมื่อถูกแสงนานกว่า 20 ชั่วโมง