ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pterocarpus macrocarpus Kurz.
ชื่อวงศ์: LEGUMINOSAE – PAPILIONOIDEAE
ชื่อสามัญ: Burma Padauk, Narva
ชื่อท้องถิ่น: ประดู่เสน จิต๊อก ฉะนอง ดู ดู่ป่า ตะเลอ เตอะ
ลักษณะ: ไม้ผลัดใบขนาดใหญ่ สูงประมาณ 20 เมตร เปลือกนอกสีน้ำตาลเทา หนาแตกหยาบ ๆ เป็นร่องลึก เรือนยอดรูปคล้ายทรงกระบอก ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 7-13 ใบ รูปร่างเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ผิวใบเกลี้ยง โคนใบกว้างมนและเรียงไปทางปลายใบ ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ยอด ผลเป็นแผ่นกลมแบน มีปีกโดยรอบ มีเมล็ดเดี่ยวอยู่กลางผล เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล
ส่วนที่ใช้ : เปลือกต้น แก่นต้น
สีที่ได้: สีน้ำตาล
เทคนิควิธีการย้อมสี: ประดู่สามารถสกัดสีได้ทั้งเปลือกและแก่นต้น แต่ปัจจุบันแก่นประดู่หายาก จึงนิยมใช้เฉพาะส่วนของเปลือกต้นด้านใน โดยนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตากให้แห้ง เปลือกประดู่แห้ง 3 กิโลกรัม สามารถย้อมเส้นใยได้ 1 กิโลกรัม นำมาต้มกับน้ำในอัตราส่วน 1:10 นาน 1 ชั่วโมง กรองใช้เฉพาะน้ำ การย้อมเส้นใยจะใช้กรรมวิธีย้อมร้อน นาน 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงนำเส้นใยไปแช่ในสารละลายช่วยติดสีจุนสี จะได้เส้นใยสีน้ำตาล