มะเกลือ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Diospyros mollis Griff.

ชื่อวงศ์: EBENACEAE

ชื่อสามัญ: Ebony tree

ชื่อท้องถิ่น: มะเกีย มะเกือ ผีผา เกลือ มักเกลือ

ลักษณะ: มะเกลือไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-30 เมตร ใบกว้าง 3.5-4.0 เซนติเมตร ยาว 9-10 เซนติเมตร เปลือกต้นมีสีดำแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ใบเป็นใบเดียวรูปรี ปลายใบแหลมฐานใบมน ใบแก่ผิวเรียบมัน เมื่อใบแห้งมีสีดำ ดอกแยกเพศคนละต้นกันออกตามซอกใบ ดอกเพศผู้เป็นช่อสั้น ๆ ประมาณ 3 ดอก ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ มีขนนุ่มปกคลุม สีเหลือง ผลกลมผิวเกลี้ยง ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีดำ ผลแก่จัดจะแห้ง มีกลีบเลี้ยงติดบนผล 4 กลีบ เมล็ดแบน สีเหลือง 4-5 เมล็ด ขนาดกว้าง 0.5-0.7 เซนติเมตร ยาว 1-2
เซนติเมตร ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

มะเกลือ ไม้ย้อมสีธรรมชาติ

ส่วนที่ใช้ : ผล

สีที่ได้: สีดำ สีเทา

เทคนิควิธีการย้อมสี: ผลมะเกลือจะให้สีประเภท Vau sye เช่นเดียวกับพืชตระกูลครามที่ต้องให้เส้นใยที่ย้อมแล้วสัมผัสกับอากาศก่อนเพื่อให้เกิดกระบวนการออกซิเดชันจึงจะได้สีตามที่ต้องการ ในการเตรียมสีย้อมให้นำผลมะเกลือดิบที่ยังไม่เปลี่ยนเป็นสีดำมาตำให้แตกแล้วต้มกับน้ำนาน 1 ชั่วโมง เอาเส้นใยลงแช่ จากนั้นนำเส้นใยไปล้างด้วยน้ำสะอาดและแช่ในน้ำโคลนต่อ วันละ 7-8 ชั่วโมง นาน 3 วัน ขณะแช่ให้กลับเส้นใยบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการด่างของเส้นใย ไม่ควรแช่เส้นใยค้างคืน และแต่ละวันให้ล้างเส้นใยให้สะอาดก่อนจะแช่น้ำโคลนในวันถัดไป เมื่อครบ 3 วัน นำเส้นใยที่แช่อยู่ในน้ำโคลนมาย้อมต่อที่อุณหภูมิประมาณ 60-70 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที เส้นใยที่ได้จะเริ่มมีสีดำ นำเส้นใยที่ผ่านการย้อมในครั้งแรกมาย้อมทับตามกระบวนการย้อมข้างต้นอีกครั้ง เส้นใยที่ได้จะมีสีดำ