การจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศลุ่มน้ำโขง: กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศจีนตอนใต้ (ยูนนาน และกวางสี) ต้นสายอารยธรรมลุ่มน้ำโขง

หัวหน้าโครงการ : เมชฌ สอดส่องกฤษ

มณฑลยูนนาน (Yunnan) และมณฑลกวางสี (Guangxi) ซึ่งเป็นบริเวณรอยต่อของประเทศจีนกับหลายประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง การกำหนดสมาชิกประเภทลุ่มน้ำโขงในส่วนของประเทศจีนนั้น จึงมักจะนับเอาเฉพาะพื้นที่ตอนใต้ของจีน โดยเฉพาะในส่วนของมณฑลยูนนาน และกวางสีเท่านั้น บริเวณนี้จึงนับได้ว่าเป็นต้นสายอารยธรรมสายน้ำโขง ชนกลุ่มน้อยในบริเวณดังกล่าวนี้มีมากกว่า 30 ชนเผ่า ที่สำคัญชนกลุ่มน้อยเหล่านี้มีหลายกลุ่มเป็นชนเผ่าเดียวกันกับที่มีอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในประเทศลุ่มน้ำโขง รวมทั้งประเทศไทยด้วย เช่น เผ่าเหมียว เผ่าว้า เผ่าลาหู่ เผ่าตรุง เผ่าปลัง เผ่าลี่ซู เผ่าฮานี เป็นต้น ในช่วงก่อนการตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน (ก่อนปี 1949) ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ถูกกดขี่ข่มเหง ทารุณกรรม และขูดรีดอย่างแสนสาหัสจากชนชั้นศักดินาที่เป็นชาวฮั่นและชนเผ่าที่มีอำนาจมากกว่า เป็นเหตุให้ส่วนใหญ่อพยพย้ายถิ่นถอยร่นลงมาตั้งถิ่นฐานตามบริเวณแนวชายแดนของประเทศลุ่มน้ำโขง และเนื่องจากชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามามีฐานะยากจน จึงตกเป็นเครื่องมือของนายทุน ในการเป็นแหล่งปลูกฝิ่นและผลิตยาเสพติด อันเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศลุ่มน้ำโขงและทั่วโลก ส่งผลร้ายต่อความมั่นคงของประเทศอย่างหนัก

ตัวอย่างกลุ่มชาติพันธุ์

ชนกลุ่มน้อยเผ่าอาชาง

ชาวเผ่าอาชาง อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยเผ่าไตและชนกลุ่มน้อยเผ่าจิ่งโพ ในตำบลหล่งชวน ตำบลเหลียงเหอ เมืองเต๋อหง มณฑลยูนนานของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ยังมีกระจัดกระจายที่หมู่บ้านอิ๋งเจียง ลู่ซี ลุ่ยลี่ ป่าวซาน ของตำบลหลงหลิง และเถิงชง จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าอาชางมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 33,936 คน

yunnan-guangxi

ภาษา

ด้วยเหตุที่บรรพบุรุษชาวอาชางในอดีตมีการอพยพย้ายถิ่นฐานจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน ทำให้เกิดการผสมผสานกับชนเผ่าต่าง ๆ เป็นบริเวณกว้างมากทำให้ภาษาของชาวอาชางมีการสัมผัสทางภาษา การยืมใช้ และถ่ายทอดซึ่งกันและกันกับภาษาของชนเผ่าต่าง ๆ มาโดยตลอด เป็นเหตุใช้ภาษาของชาวอาชางค่อนข้างซับซ้อน การจัดตระกูลภาษาของภาษาอาชางก็ค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อนเช่นเดียวกัน พิจารณาจากตระกูลภาษาจะเห็นว่า ภาษาอาชางจัดอยู่ในตระกูลภาษาจีนทิเบต แขนงภาษาพม่า แต่นักวิชาการในประเทศจีน มีแนวคิดในการจัดแบ่งแขนงภาษาอาชางแตกต่างกัน ที่สำคัญมี 3 แนวทาง คือ

1.จัดอยู่ในแขนงภาษาพม่า

2.จัดอยู่ในแขนงภาษาอี๋

3. จัดเป็นแขนงภาษาอิสระ คือ แขนงภาษาอาชาง

ศิลปวัฒนธรรม

ในด้านวัฒนธรรมดนตรีและการรื่นเริงของชาวอาชางก็มีความหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นกลอน เพลงร้องเผ่าอาชาง นิทานตำนานพื้นบ้านที่เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ เช่น ตำนานอิงประวัติศาสตร์เรื่อง “เจ๊อพ่าหมากับเจ๊อหมี่หมา” นิทานกลอนเรื่อง “สงครามช่างเหล็กกับจ้าวมังกร” นิทานพื้นบ้านเรื่อง “พี่น้องสองสาว” นิทานสัตว์เรื่อง “เลียงผากับเสือดาวแลกงาน” เรื่อง “หมีใหญ่ถอดหน้ากาก” เป็นต้น

การขับร้องเพลงของชาวอาชางมีเอกลักษณะเฉพาะตัว ในยามทำงานท่ามกลางธรรมชาติ หนุ่มสาวชาวอาชางจะร้องเพลงโต้ตอบกัน เนื้อหาเพลงที่ร้องก็จะเกี่ยวกับ ภูเขา แม่น้ำ ลำธาร ท่วงทำนองบริสุทธิ์ แต่พอพลบค่ำหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานแล้ว ชาวอาชางกระซิบกระซาบด้วยเสียงเพลงแผ่วเบาบอกรักกันและกัน บางครั้งร้องกันเพลินจนโต้รุ่งเลยก็มี ในคราวสนุกสนานรื่นเริงชาวอาซางก็มีเพลงที่เปรียบเปรย แฝงความหมายลึกซึ้ง บ้างก็เป็นคติสอนใจ บ้างก็เป็นเรื่องขบขัน ดนตรีของชาวอาชางก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชาวอาชางสร้างเครื่องดนตรีขึ้นด้วยฝีมือของชาวอาชางเองเช่น พิณไม้ไผ่ ปี่น้ำเต้า พิณสามสาย กลอง ฆ้องเหล็ก เป็นต้น การเต้นรำของชาวอาชางล้วนเกี่ยวพันกับธรรมชาติ การเต้นเลียนแบบท่าทางของลิงเรียกว่า “ระบำลิง” เป็นระบำที่นิยมมากในหมู่หนุ่มสาวขาวอาชาง การรื่นเริงอีกอย่างของขาวอาชาง คือ กีฬาพื้นบ้าน ชาวอาชางชอบการแข่งม้า ฟันดาบ ยิงธนู โล้ชิงช้า

yunnan-guangxi2

ชาวอาชางมีฝีมือในด้านศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านหลายอย่าง เช่น การปักผ้า ทอผ้า ย้อมผ้า การปั้นภาชนะเคลือบ แกะสลัก เครื่องเงิน การตีมีด โดยเฉพาะงานแกะสลักของชาวอาชางได้รับความนิยมนำไปประดับประดาตามสิ่งปลูกสร้าง สร้างบรรยากาศความเป็นชนเผ่าได้อย่างมีเอกลักษณ์ ในขณะเดียวกันก็มีความกลมกลืนและลงตัวอย่างน่าอัศจรรย์

รายละเอียดเพิ่มเติม : การจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศลุ่มน้ำโขง: กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศจีนตอนใต้ (ยูนนาน และกวางสี) ต้นสายอารยธรรมลุ่มน้ำโขง รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี