การศึกษาและรวบรวมข้อมูลและรูปทรงงานหัตถกรรมพื้นบ้านภูมิปัญญาท้องถิ่นในเขตพื้นที่อีสานใต้ 8 จังหวัด

หัวหน้าโครงการ : ศักดิ์ชาย สิกขา

รายงานได้นำเสนอเนื้อหาการรวบรวมข้อมูล แบบและรูปทรงงานหัตถกรรมพื้นบ้าน ประเภทเครื่องปั้นดินเผา เครื่องจักสาน งานไม้ และงานโลหะ ในเขต 8 จังหวัดในพื้นที่อีสานใต้ ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ สุรินทร์ มุกดาหาร และร้อยเอ็ด

weaving8

วัฒนธรรมประเพณีของภาคอีสาน แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

ภาคอีสานตอนบน หรือกลุ่มวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง ได้แก่ บริเวณพื้นที่เทือกเขาภูพานตอนบนไปจรดริมฝั่งแม่น้ำโขงหรือบริเวณแอ่งสกลนคร มีเทือกเขาใหญ่น้อย รวมทั้งแอ่งต่าง ๆ มากมาย ตามเส้นทางการเดินทางของแม่น้ำโขง มีประชากรจำนวนมากได้อพยพย้ายถิ่นฐานจากฝั่งซ้ายมาสู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด เลย และอุบลราชธานี นอกจากชาวไทยอีสานซึ่งมีมากถึง 95% แล้วยังมีชาวภูไทอีกด้วย (เป็นคนไทยที่อพยพมาจากแคว้นสิบสองจุไท หรือ บริเวณเมืองแถน หรือเดียนเบียนฟูของเวียดนามในปัจจุบัน ซึ่งแคว้นสิบสองจุไทนี้เคยเป็นของไทยมาก่อน)

ภาคอีสานตอนล่าง อยู่ในบริเวณพื้นที่เทือกเขาภูพานตอนล่างหรือบริเวณแอ่งโคราช ลักษณะภูมิประเทศทั่วไปเป็นที่ราบสูงและแนวหินภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว เนื่องจากภาคอีสานเคยเป็นเส้นทางการเดินทางของชนกลุ่มขอมโบราณ จึงมีโบราณสถานเก่าแก่ที่ได้รับอิทธิพลด้านวัฒนธรรมจาก “หัวเมืองเขมรป่าดง” มาก กลุ่มชนในอีสานตอนล่างมีทั้งชาวเขมรสูงชาวกูย (ส่วย) ชาวไทยโคราช ชาวกระโซ่ ชาวแสก ชาวกุลา และชาวไทยย้อ กลุ่มชนเหล่านี้อาศัยอยู่ในจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร ศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์

เครื่องแต่งกายพื้นบ้านของภาคอีสานเป็นผ้าทอมือทั้งจากฝ้าย และไหม สตรีไทยอีสานจะนุ่งผ้าซิ่นสั้นแค่เข่า สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสไบ เกล้ามวยและทัดดอกไม้ ส่วนชายนุ่งกางเกงหรือโสร่ง สวมเสื้อคาดผ้าขาวม้า เครื่องประดับส่วนใหญ่ทำด้วยเงินและทอง

สมัยโบราณ งานทอผ้าถือเป็นกิจกรรมยามว่างจากงานประจำอื่น ๆ นอกจากจะใช้ผ้าทอเป็นเครื่องนุ่งห่มแล้ว ยังใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หมอน ผ้าห่ม ผ้าขาวม้า ทอเป็นเครื่องถวายพระ ผ้าห่อคัมภีร์ และผ้ากราบ ผ้าที่มีลวดลายประณีตงดงามขึ้นชื่อของภาคอีสาน คือ ผ้าลายขิด ผ้ามัดหมี่ และผ้าแพรวา

ภาษาพูดของชาวไทยอีสานคล้ายคลึงกับภาษาลาว ซื่อและสื่อเข้าใจง่าย นับเป็นเอกลักษณ์เด่นอย่างหนึ่งของภาคอีสาน

อาหารอีสานรสชาติจะแซ่บ เผ็ดจัด และมีครบแทบทุกรส อาหารที่ขึ้นชื่อคือ ส้มตำ ทำได้ทั้งมะละกอ แตงกวา มะม่วง กระท้อน มะยม มะเขือ และสับปะรด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีต้มเครื่องใน ซกเล็ก แจ่วฮ้อน (สุกี้อีสาน) ปลาส้ม ลาบ น้ำพริก และแจ่วต่าง ๆ จิ้มกับผัก ส่วนจังหวัดที่อยู่ติดแม่น้ำโขงจะมีปลาน้ำจืดให้รับประทาน ส่วนใหญ่นิยมรับประทานข้าวเหนียว ยกเว้นในบางส่วนของจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษ ที่นิยมรับประทานข้าวเจ้ามากกว่าข้าวเหนียว

การละเล่นในงานเทศกาลและเมื่อว่างจากภารกิจต่าง ๆ ของอีสานเหนือ นิยมการเซิ้งการฟ้อนในจังหวะรวดเร็วและสนุกสนาน เช่น เซิ้งบั้งไฟ หมอลำ ฟ้อนภูไท ลำลงข่วง ประกอบเครื่องดนตรีประเภทพิณ แคน ซอ โปงลาง และโหวด ส่วนการละเล่นของทางอีสานใต้มีเรือมอันเร โจลมาม้วด เรือมตรษ เรือมจันเตราะ เจรี่ยง กันตรึม และกโนบดิงดอง ศิลปะการแสดงพื้นบ้านไม่นิยมใช้เครื่องดนตรีประเภทพิณและโปงลาง แต่จะใช้กลองเส็ง หมากกั๊บแกบ ธนู โทน ดินเผา กลอง สากไม้ ฆ้อง ปี่ แป๊ ตรัว และเสนงกล ด้วยเหตุอีสานเป็นดินแดนค่อนข้างแห้งแล้งตลอดปี ชาวอีสานจึงมีประเพณี หรือพิธีแก้เคล็ดเกี่ยวกับการขอฝน เป็นการบนบานศาลกล่าวหรืออ้อนวอนต่อเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยบันดาลให้ฝนตก เพื่อพืชพันธุ์ธัญญาหารจะได้เจริญงอกงาม ประเพณีดังกล่าวได้สะท้อนออกมาให้เห็นในงานบุญต่าง ๆ ที่หาดูไม่ได้ในภาคอื่น ๆ เช่น งานประเพณีบุญบั้งไฟ ตัวบั้งไฟที่จะยิงขึ้นไปบนท้องฟ้าจะประดับด้วยนาคอันเป็นสัญลักษณ์ของผู้ให้น้ำ

สำหรับวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาของทางหัวเมืองอีสาน กล่าวได้ว่า จังหวัดอุบลราชธานีมีประวัติเป็นรากฐานแห่งการขยายพระพุทธศาสนา ประเพณีที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น ประเพณีแห่เทียนพรรษา และงานแห่ประสาทผึ้ง พิธีทำบุญข้าวประดับดิน พิธีทำบุญข้าวสาก พิธีบุญผะเหวด ประเพณีกองบวชกองฮด พิธีทำบุญข้าวจี่ เป็นต้น

ส่วนประเพณีอื่น ๆ ที่ยังคงถือปฏิบัติสืบกันมา ได้แก่ ประเพณีกินดอง ประเพณีรำผีฟ้า ประเพณีไหลเรือไฟ ประเพณีแห่ผีตาโขน พิธีผิดผี พิธีบายศรีหรือเรียกขวัญ ลักษณะศิลปะที่ปรากฏในประติมากรรมและสถาปัตยกรรมมีทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์และต่อมาจนถึงสมัยขอมเรืองอำนาจ ดังจะเห็นได้จากโบราณที่มีอยู่ทั่วไป เช่น ปราสาทหินพนมรุ่ง จังหวัดบุรีรัมย์ ประสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

แม้ว่าจะเป็นดินแดนที่แห้งแล้งที่สุดในประเทศไทย แต่ชาวอีสานก็ยังคงยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยปลุกพืชพันธุ์ที่เจริญงอกงามได้ดีในภูมิประเทศที่กันดาร เช่น ข้าวเหนียว ข้าวโพด ปอ มันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งปลูกกันเป็นหย่อม ๆ ตามไหล่เขาและที่ราบบางแห่ง ทั้งยังมีการทำปศุสัตว์อีกด้วย

นอกจากนี้มีการทอผ้าและงานหัตถกรรม เช่น ทอผ้าไหมลวดลายสวยงาม ทำเครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา ที่สำคัญคือ มีการทำเกลือสินเธาว์ กล่าวกันว่าการทำเกลือในภาคอีสานมีมาตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ ซึ่งในสมัยก่อนแถบนั้นเป็นสถานที่อุดมไปด้วยดินเค็มซึ่งเกิดจากการสร้างหินโคลน และเปลือกหอย ลักษณะพื้นที่เช่นนี้มีมากที่จังหวัดมหาสารคาม ส่วนการทำป่าไม้ก็เป็นอาชีพสำคัญอีกอย่างหนึ่งของชาวอีสาน โดยใช้สัตว์ใหญ่แข็งแรงอย่างช้างช่วยในการลากและงัดซุง เช่นที่จังหวัดสุรินทร์

weaving7

รายละเอียดเพิ่มเติมการศึกษาและรวบรวมข้อมูลและรูปทรงงานหัตถกรรมพื้นบ้านภูมิปัญญาท้องถิ่นในเขตพื้นที่อีสานใต้ 8 จังหวัด รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2546