การพัฒนาศักยภาพทางการเงินของผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (OTOP) ภูมิปัญญาแต่โบราณในจังหวัดอุบลราชธานี

หัวหน้าโครงการ : พรพิพัฒน์ แก้วกล้า

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาศักยภาพทางการเงินของผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (OTOP) ภูมิปัญญาแต่โบราณในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อศึกษาเปรียบเทียบศักยภาพทางการเงินของผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (OTOP) ภูมิปัญญาแต่โบราณในจังหวัดอุบลราชธานี และเพื่อเสนอแนะเชิงนโยบายการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อความยั่งยืนอันเป็นประเด็นสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11

ศักยภาพทางการเงิน-ผลิตภัณฑ์ชุมชน-otop

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเชิงคุณภาพ คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ทองเหลืองบ้านปะอาว และกลุ่มสตรีจักสานไม้ไผ่บ้านหนองขอน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ การสัมภาษณ์เชิงลึก เครื่องมือในการวิเคราะห์ผลตอบแทนเพื่อประเมินโครงการลงทุน คือ ระยะเวลาคืนทุน (Payback Period : PB) มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) และผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return : IRP) สำหรับงานวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่างคือ นักท่องเที่ยว และลูกค้า จำนวน 400 คน ด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และการวิเคราะห์การถดถอยแบบพหุคูณ

ผลการวิเคราะห์ศักยภาพทางการเงิน กลุ่มผลิตภัณฑ์ทองเหลืองบ้านปะอาว พบว่า ศักยภาพทางการเงินสูง โดยมีความคุ้มค่าในการลงทุน กล่าวคือ ระยะเวลาคืนทุน (PB) เท่ากับ 3 ปี 10 วัน มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 674,070 บาท โดยใช้อัตราคิดลดร้อยละ 7 อัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) เท่ากับ 26.09% ส่วนผลการวิเคราะห์ความไหวตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 กรณี พบว่า กรณีที่ 1 เมื่อต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.27% ในกำหนดให้รายได้คงที่ และอัตราคิดลกลงคงที่ มูลค่าปัจจุบันสุทธิ เท่ากับ 443,376 บาท อัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) เท่ากับ 19.81% กรณีที่ 2 เมื่อรายได้รวมลดลงร้อยละ 5.27 โดยกำหนดให้ต้นทุนรวมคงที่ และอัตราคิดลงคงที่ มูลค่าปัจจุบันสุทธิเท่ากับ 355,153 บาท อัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) เท่ากับ 17.43%

ผลการวิเคราะห์ศักยภาพทางการเงินของกลุ่มสตรีจักสารไม้ไผ่บ้านหนองขอน พบว่า มีศักยภาพทางการเงินสูง โดยมีความคุ้มค่าในการลงทุน กล่าวคือ ระยะเวลาคืนทุน (PB) เท่ากับ 1 ปี 121 วัน มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 992,034 บาท โดยใช้อัตราคิดลดร้อยละ 7 อัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) เท่ากับ 55.73% ส่วนผลการวิเคราะห์ความไหวตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 กรณี พบว่า กรณีที่ 1 เมื่อต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.27% ในกำหนดให้รายได้คงที่ และอัตราคิดลดคงที่ มูลค่าปัจจุบันสิทธิ เท่ากับ 829,978 บาท อัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) เท่ากับ 48.63% กรณีที่ 2 เมื่อรายได้รวมลดลงร้อยละ 5.27 โดยกำหนดให้ต้นทุนรวมคงที่ และอัตราคิดลงคงที่ มูลค่าปัจจุบันสุทธิเท่ากับ 746,078 บาท อัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) เท่ากับ 44.87%

การวิเคราะห์ความถดถอยพหุคูณ เพื่อศึกษาอิทธิพลของคุณภาพผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (OTOP) ภูมิปัญญาโบราณ ในจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีผลต่อกระบวนการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม พบว่า องค์ประกอบของคุณภาพผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมทั้ง 4 องค์ประกอบ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ ราคา ช่องทางการจัดจำหน่าย และการส่งเสริมการขาย มีความสัมพันธ์เชิงบวกและมีผลกระทบต่อกระบวนการตัดสินใจซื้อของนักท่องเที่ยว/ลูกค้า

ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าระดับของคุณภาพผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (OTOP) ภูมิปัญญาแต่โบราณในจังหวัดอุบลราชธานี มีคุณภาพมากขึ้นเท่าใด จะทำให้การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (OTOP) เพื่อสูงขึ้นเท่านั้น ซึ่งส่งผลต่อความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อบรรลุความสำเร็จ ดังนั้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม จึงจะต้องเพิ่มความสามารถในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อการพัฒนาศักยภาพทางการเงินอย่างยั่งยืนต่อไป

ศักยภาพทางการเงิน-ผลิตภัณฑ์ชุมชน-otop

รายละเอียดเพิ่มเติม : การพัฒนาศักยภาพทางการเงินของผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (OTOP) ภูมิปัญญาแต่โบราณในจังหวัดอุบลราชธานี รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2558