การสร้างทักษะการบริหารผ่านการละเล่นพื้นบ้านอีสาน
หัวหน้าโครงการ : ศุภกัญญา จันทรุกขา
การละเล่นพื้นบ้านเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เป็นการสะท้อนวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ การละเล่นพื้นบ้านนั้นให้ประโยชน์แก่ผู้เล่นหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ทำให้ร่างกายแข็งแรง ทำให้ผู้เล่นได้ฝึกไหวพริบและเชาว์ปัญญา ได้พัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ รู้จักแพ้ชนะ สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้ มีทักษะในด้านการบริหารจัดการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การรู้จักวางแผน การทำงานเป็นทีม และเสริมสร้างภาวะผู้นำ
ตัวอย่างกิจกรรรมการละเล่นพื้นบ้านอีสาน
หลบลูกอีฮูน (หลบลูกระเบิด)
วิธีการเล่น : ให้แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย หรือเล่น 2 ทีม โดยให้ทีม 1 เป็นฝ่ายขว้าง และให้อีกทีมเป็นฝ่ายหลบ โดยฝ่ายหลบจะต้องอยู่ในอาณาเขต
การเตรียมสถานที่ : ใช้พื้นที่โดยการกะหรืออาจทำสัญลักษณ์ให้เป็นลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า
จำนวนผู้เล่น : 6 คนขึ้นไป
อุปกรณ์ที่ต้องใช้ : เศษผ้าขาวม้าฉีกเป็นเส้น ๆ แล้วมัดต่อกันแล้วพันมัดม้วนเป็นก้อนกลม ๆ
แมวกินปลาย่าง
วิธีการเล่น : แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย ตามจำนวนเท่า ๆ กัน จากนั้นให้แบ่งฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นแมว และอีกฝ่ายเป็นปลาย่าง แล้วให้ตัวแทนแต่ละทีม เลือกตัวแทนฝ่ายละ 1 คน เพื่อมาเป็นแมวและเป็นปลาย่าง ให้ผู้เล่นที่เหลือนั่งล้อมเป็นวงกลม โดยคนที่เป็นแมวต้องตามจับ คนที่เป็นปลาย่างแล้วให้คนที่เป็นปลาย่างวิ่งหนีคนที่เป็นแมว โดยสามารถให้บุคคลที่นั่งล้อมวง สามารถบอกทิศทางให้ทีมของตัวเองได้ ถ้าเกิดแมวสามารถจับปลาย่างได้เป็นอันว่าจบเกม ให้สลับกันเป็นแมวและปลาย่าง ทีมไหนที่สามารถจับปลาย่างในเวลาที่น้อยกว่าเป็นฝ่ายชนะ
กติกา : ให้ปิดตาทั้งสองฝ่าย และให้ฝ่ายที่เป็นแมวจับปลาย่าง ให้ฝ่ายที่เป็นปลาย่างวิ่งหนีแมวโดยอาศัยเสียงรอบข้างจากเพื่อน ๆ ที่นั่งล้อมวง ถ้าแมวจับปลาได้เป็นอันสิ้นสุดเกม
รายละเอียดเพิ่มเติม :การสร้างทักษะการบริหารผ่านการละเล่นพื้นบ้านอีสาน รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2557