แนวทางการจัดการศิลปวัฒนธรรมในจังหวัดอุบลราชธานี

หัวหน้าโครงการ : ธรรมวิมล สุขเสริม

รายงานได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการเสวนาเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี : อดีต – ปัจจุบัน – อนาคต มีเอกสารประกอบการเสวนา เรื่อง การประเมินผลสำเร็จของการจัดงานแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2546 โดย ผศ. ธานี นงนุช ประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี กำลังเปลี่ยนไป โดย รศ.ประจักษ์ บุญอารีย์

candle6

ประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี กำลังเปลี่ยนไป โดย รศ.ประจักษ์ บุญอารีย์

ฐานเดิมของประเพณีแห่เทียนพรรษา

1.ประเพณีแห่เทียนพรรษาเกิดจากความเชื่อเรื่องภพเรื่องชาติ เรื่องบุญเรื่องกรรม หากใครผู้ใดได้ถวายแสงประทีปเป็นทาน ชีวิตนี้ก็จักช่วยให้เกิดเป็นผู้มีสติปัญญาหลักแหลมในชาติหน้า หรือผู้ที่มีปัญญาเฉลียวฉลาดหลักแหลมในชาตินี้ เพราะชาติปางก่อนเคยถวายแสงประทีปเป็นทาน

2.เป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนในการนำเทียนไปถวายพระภิกษุสงฆ์ในเทศกาลเข้าพรรษา หรือ ฮีตเดือน 8 ซึ่งถือเป็นจารีตของจรรยาของสังคมอีสานที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ถ้าฝ่าฝืนจะมีความผิด เรียกว่า ผิดฮีต (ต้องทำ)

3.เป็นวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งคนในชุมชนทุกคนมีส่วนร่วมในการทำบุญ ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของชุมชน

4.มีการเรียนรู้โดยวิถีชุมชน งานปฏิบัติตามฮีตมีการเรียนรู้จากการส่งถ่ายจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนรุ่นหนึ่งด้วยการปฏิบัติ

5.มีความเปลี่ยนแปลงเป็นวิถี ดั้งเดิมการแห่เทียนไม่มี แต่เป็นการถูกสั่งการให้จัดขึ้นแทนแห่บั้งไฟ โดยกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ แล้วจึงมีการเปลี่ยนแปลงมาตามยุคตามสมัย

6.จัดการโดยองค์กรชุมชน เดิม คือ คุ้มวัดต่าง ๆ ในเขตเมืองอุบลราชธานี เมื่อร่วมกันแห่เสร็จก็นำกลับไปถวายวัดในคุ้มของตน ทางราชการไม่มีส่วนร่วมมากนัก

7.เทียนพรรษาเป็นองค์วัตถุที่แสดงออกแทนความเชื่อ ความศรัทธาอันบริสุทธิ์เป็นทาน เพื่อหวังผลในชาติหน้า เป็นโอกาสของช่างศิลป์ของแต่ละคุ้มวัดที่จะได้แสดงฝีมือเป็นการทำบุญ

8.งานบุญตามฮีต 12 ของอีสานเป็นกลยุทธ์ในการแสดงพลังของชุมชน ทั้งนี้เพราะในยุคโบราณไม่มีส่วนราชการด้านต่าง ๆ เข้าไปมีส่วนรับผิดชอบจัดการ หากแต่อาศัยประเพณีเป็นเครื่องหล่อหลอมวิถีชุมชน

9.ประเพณีการแห่เทียบพรรษาเป็นเพียงส่วนหนึ่งขององค์พิธีบุญเข้าพรรษาเท่านั้น ยังมีกิจกรรมอันเป็นพิธีกรรมสำคัญอื่น ๆ เช่น การทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ การบวชนาค ฟังธรรมเทศนาที่วัดของแต่ละคุ้ม ถวายผ้าอาบน้ำฝน อุปกรณ์ไฟฟ้า ฯลฯ

10.เรียบง่ายตามวิถีวัฒนธรรมอีสาน จัดกันเอง ดูกันเอง สนุกสนานกันเองอย่างเป็นกัลยาณมิตร

ความเปลี่ยนแปลงที่น่าภูมิใจ

1.ประเพณีแห่เทียนพรรษาเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี ด้วยการจัดการของภาครัฐร่วมกับเอกชนทำให้ประเพณีท้องถิ่นธรรมดา ๆ สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดอุบลราชธานีโด่งดังไปทั่วโลก

2.ประเพณีแห่เทียนพรรษาช่วยสร้างผลได้ทางเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดอุบลราชธานี

3.ประเพณีแห่เทียนพรรษาช่วยสืบสานสกุลศิลป์อุบลราชธานี ช่วยพัฒนาช่างฝีมือทำเทียนพรรษาตามวิถีศิลปกรรมท้องถิ่น

4.ประเพณีแห่เทียนพรรษาเร้าเตือนให้ชาวอุบลราชธานีภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมและความเป็นเมืองอุบลราชธานีเมืองศิลป์

5.ประเพณีแห่เทียนพรรษาช่วยให้ชาวบ้านได้โอกาสทำบุญสร้างกุศลเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา โดยเฉพาะการถวายแสงประทีปเป็นทาน

6.ประเพณีแห่เทียนเป็นการสืบสานตำนานการถวายประทีปเป็นทาน เพื่อมุ่งให้เกิดความหลักแหลมทางปัญญาปรารถนาให้ตนเองเป็นผู้เฉลียวฉลาด สมกับเป็นพลเมืองแห่งเมืองนักปราชญ์

7.ประเพณีแห่เทียนพรรษาเชื่อมโยงกับการพัฒนาอาชีพช่างเทียนพรรษาและอาชีพที่พัฒนาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นอื่นในอนาคต

8.ประเพณีแห่เทียนพรรษาเป็นปูมเมืองแห่งเมืองศิลป์ ซึ่งเป็นผลผลิตทางจิตวิญญาณด้านศิลปะของบรรพบุรุษชาวอุบลราชธานี

9.ประเพณีเทียนพรรษาเป็นกลยุทธ์ในการรวมกันเป็นประชากรของชาวอุบลราชธานี เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง

10.ประเพณีแห่เทียนพรรษาเป็นหนึ่งกิจกรรมสำคัญของฮีตเดือน 8 ที่ต้องถือปฏิบัติเพื่อความถูกต้องดีงาม เป็นกุศล เป็นบุญและเป็นมงคลทั้งส่วนบุคคลและชุมชน ถ้าไม่ถือปฏิบัติจะผิดฮีตหรือผิดจารีตการปฏิบัติตามฮีต 12 ถือเสมือนธรรมนูญชีวิตของชาวอีสาน

candle_festival-17-254x300

ความเปลี่ยนแปลงที่น่าเป็นห่วง

1.เป็นทุนทางสังคม ประเพณีแห่เทียนถูกจัดการให้เกิดผลทางเศรษฐกิจ (เงิน) ตามวิถีทุนนิยมเสรีหรือนำมาเป็นจุดขายของจังหวัดอุบลราชธานี

2.ลืมฮีตหลงคอง ประเพณีแห่เทียนซึ่งเดิมเป็นเปลือกของฮีตเดือน 8 บุญเข้าพรรษา ถูกทำให้เป็นแก่น ทำให้การทำบุญตามฮีตตามคองซึ่งเป็นสาระหลักถูกลดความสำคัญลงไปทำให้ส่วนที่เป็นความคิด ความเชื่อ (องคมติ) ส่วนที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ องค์การจัดการและการจัดการ (องค์กร) และปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นเสมือนกิ่ง ใบ ดอกผล (องคพิธีและองควัตถุ) ซึ่งเป็นโครงสร้างทั้งหมดของวัฒนธรรมขาดความสมดุล

3.เนื้อหาเปลี่ยนทำหน้าที่ใหม่ เมื่อโครงสร้างเปลี่ยน เนื้อหาสาระเปลี่ยน ทำให้การแห่เทียนพรรษาเปลี่ยนจากการเป็นพุทธบูชา เป็นงานแสดงศิลปะท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยว

candle

4.ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยลง ทั้งเรื่องการบริจาคทรัพย์สิน แรงงาน ความรู้ความสามารถของชาวคุ้มวัดต่าง ๆ น้อยลง แต่ได้รับการช่วยเหลือแบบเบ็ดเสร็จจากองค์กรภายนอกด้านเงินทุนและกลุ่มช่างรับเหมาเพื่อดำเนินการ

4.การเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนน้อยลง ในการทำต้นเทียนเปลี่ยนจากการทำโดยภูมิปัญญาของแต่ละชุมชน ไปสู่กลุ่มช่างฝีมือรับเหมาทำให้ขาดความรู้ สืบทอดความสามารถของคนในชุมชน

6.องค์การชุมชนพึ่งพาองค์กรภายนอกในการจัดการ ปัจจุบันงานแห่เทียนพรรษาถูกจัดโดยองค์กรภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน จนทำให้องค์กรภาคประชาชนอ่อนแอ ไม่สามารถจัดการงานตามฮีตของชุมชนได้ ประชาชนและองค์กรประชาชนถูกจัดการโดยรัฐและทุนจนอยู่ในภาพเหมือนตัวเบี้ยในกระดานหมากรุก

7.ประกวดแข่งขันจนเกินงาม การประกวดแข่งขันทำให้เกิดการประมูลกลุ่มช่างฝีมือของวัดต่าง ๆ เพื่อเอาชนะซึ่งกลุ่มที่ชนะเลิศก็คือช่างกลุ่มเดิม ๆ ที่เคยชนะในแต่ละปี แล้วแต่วัดไหนประมูลได้ เพราะเงินถึง ความภูมิใจในชัยชนะก็ไม่ใช่เป็นของคนคุ้มวัด แต่หากเป็นของกลุ่มช่างที่ชนะในแต่ละปี ซึ่งเป็นจุดอับของานแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี

8.ผลได้กระจุกไม่กระจายสู่ประชาชน งานแห่เทียนทำให้เกิดงานสร้างรายได้กระจุกตัวเฉพาะเมือง พ่อค้าประชาชนบางกลุ่ม ประชาชนส่วนใหญ่ระดับฐานรากเป็นเพียงผู้ชมและผู้ทำบุญร่วมกับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

candle4

รายละเอียดเพิ่มเติมการแนวทางการจัดการศิลปวัฒนธรรมในจังหวัดอุบลราชธานี รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลบราชธานี ปี 2547