การรวบรวมลวดลายผ้าไหมจังหวัดอุบลราชธานี

หัวหน้าโครงการ : มะลิวัลย์ สินน้อย

รายงานได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นมาของลวดลายผ้าไหม แหล่งทอผ้าไหมของจังหวัดอุบลราชธานี  ผ้าไหมบ้านลาดสมดี ต.กุศกร อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ผ้าไหมบ้านโนนสวาง อ.กุดข้าวปุ้น จ.อุบลราชธานี ผ้าไหมบ้านปะอาว ต.ปะอาว อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ผ้าไหมบ้านสร้างถ่อ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ผ้าไหมบ้านสำโรง ต.บอน อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี

silk8

ลวดลายผ้าไหม

ลวดลายและสัญลักษณ์ในผ้าไหมมีมากมายบางลายก็มีชื่อเรียกสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน บางชื่อก็เป็นภาษาถิ่นไม่เป็นที่เข้าใจของคนไทยในภาคอื่น ๆ บางลายก็เป็นชื่อเรียกกันมาโดยไม่รู้ประวัติ รวมถึงบางลายก็มีการคิดค้นใหม่ จึงได้ชื่อใหม่ ๆ นอกจากนี้บางลายก็เรียกชื่อตามศิลปะจิตรกรรมฝาผนังและสถาปัตยกรรม หรือบางทีก็มีกล่าวถึงในตำนานพื้นบ้าน และในวรรณคดี เป็นต้น บางลวดลายก็เป็นคติร่วมกับความเชื่อ และปรากฏอยู่ในศิลปะของหลายชาติ เช่น ลายขอ หรือลายก้นหอย ซึ่งนับว่าเป็นลายเก่าแก่โบราณของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก หากสังเกตและศึกษาเปรียบเทียบก็จะเข้าใจลวดลาย สัญลักษณ์ ในผ้าพื้นเมืองของไทยได้มากขึ้นและมองเห็นคุณค่าลึกซึ้งขึ้น จากการค้นคว้าพบว่าในสารานุกรมไทย ได้ให้รายละเอียดลวดลายต้นแบบ สามารถแบ่งออกเป็น 4 ลาย ดังนี้

1.ลายเส้นตรง หรือเส้นขาด ในทางตรงยาวหรือทางขวาง เส้นเดียวหรือหลายเส้นขนานกัน ลายเส้นตรงทางขวางเป็นลายผ้าที่ใช้กันทั่วไปในแถบล้านนาไทยมาแล้วแต่โบราณ จะเห็นได้จากจิตรกรรมวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน และวิหารลายตี วัดพระสิงห์จังหวัดเชียงใหม่ ลายเส้นตรงทางยาวมักพบในผ้านุ่งของคนไทยกลุ่มลาวโซ่ง ลาวพวน เป็นต้น ในภาคอีสานลายเส้นตรงยาวสลับกับลายอื่น ๆ จะปรากฏอยู่ในผ้ามัดหมี่ทั้งไหมและฝ้าย และบ่อยครั้งเราจะพบผ้ามัดหมี่อีสานเป็นลายเส้นต่อที่มีลักษณะเหมือนฝนตกเป็นทางยาวลงมา หรือที่ประดับอยู่ในผ้าตีนจกเป็นเส้นขาดเหมือนฝนตก หรือลายเส้นขาดขวางเหมือนเป็นทางเดินของน้ำ เป็นต้น

2.ลายฟันปลา ลายนี้ปรากฏอยู่ตามเชิงผ้าของตีนจกและผ้าขิด ตลอดจนเป็นลายเชิงชองซิ่นมัดหมี่ของผ้าที่ทอในทุก ๆ ภาคของประเทศไทย ชาวบ้านทางภาคอีสานเรียกว่า “ลายเอี๊ย” ลายฟันปลา อาจจะปรากฏในลักษณะทางขวางหรือทางยาวก็ได้ บางที่จะพบผ้ามัดหมี่ที่ตกแต่งด้วยลายฟันปลาทั้งผืนก็มี นอกจากนี้ผ้าของชาวเผ่าม้งทางภาคเหนือ จะใช้ลายฟันปลาประดับผ้าอยู่บ่อย     ๆ

3.ลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนหรือลายกากบาท เกิดจากการขีดเส้นตรงทางเฉียงหลาย ๆ เส้นตัดกันทำให้เกิดกากบาท หรือตารางสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนหลาย ๆ รูปติดต่อกัน ลายนี้พบอยู่บนผ้าจก ผ้าขิด และผ้ามัดหมี่ โดยทั่วไปทุกภาคของไทย ในลาว และอินโดนีเซีย และบนพรมตะวันออกกลาง ยังพบบนลวดลายผ้าของชาวเขาเผ้าม้ง กระเหรี่ยงในประเทศไทย และประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย

4.ลายขดเป็นวงเหมือนก้นหอย หรือตะขอ ลายนี้พบอยู่ทั่วไปเช่นกัน บนผ้าจก ผ้าขิดและผ้ามัดหมี่ของทุกภาค ชาวบ้านภาคเหนือและภาคอีสานเรียกว่า “ลายผักกูด” ซึ่งเป็นชื่อของพืชตระกูลเฟิร์นชนิดหนึ่งในซาราวัคของประเทศมาเลเซีย ก็เรียกว่า ลายผักกูด เช่นกัน

รายละเอียดเพิ่มเติมการรวบรวมลวดลายผ้าไหมจังหวัดอุบลราชธานี รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2547

next-to