พรรณไม้ ม.อุบล

หัวหน้าโครงการ : แก้ว อุดมศิริชาคร

รายงานนี้ได้รวบรวมพรรณไม้ดั้งเดิมที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ข้อมูลของพรรณไม้ประกอบด้วยชื่อพรรณไม้ คำบรรยายลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพืช บอกประโยชน์และสรรพคุณทางยาซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านจากคำบอกเล่าของปราชญ์ชาวบ้าน และมีภาพถ่ายสีของพรรณไม้ที่ค่อนข้างสมบูรณ์

ตัวอย่างพรรณไม้ในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

mok

โมกหลวง โมกใหญ่ (Holarrhena pubescens Wall. Ex G.Don) ไม้พุ่มสูง 1.5  เมตร เปลือกสีน้ำตาลทุกส่วน มีน้ำยางสีขาวขุ่น ใบเดี่ยว รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง 4-6 ซม. ยาว 5-18 ซม. ปลายใบสอบแหลม ฐานใบมน ขอบใบเรียบ เส้นกลางใบและเส้นใบเห็นชัด ดอกช่อออกตามซอกใบกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว โคนกลีบเชื่อมปลายแยกมีขนนุ่ม เกสรเพศผู้สั้น ผลเป็นฝักแห้งแล้วแตก

ช่วงการมีดอก มกราคม ถึง กุมภาพันธุ์

ประโยชน์ (สรรพคุณ) เปลือกต้นต้มน้ำ ดื่มแก้ท้องเสีย

hualing

แฟบน้ำ หัวลิง (Hymenocardia wallichii Tul.) ไม้พุ่ม สูง 1-5 เมตร เปลือกสีน้ำตาล ผิวเรียบ มีน้ำยางใส ใบเดี่ยวเรียงแบบสลับ รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง 2-3 ซม. ยาว 4-5 ซม. ฐานใบมน ปลายใบมนมีติ่งแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบด้านบนและด้านล่างเรียบ ดอกช่อแบบช่อเชิงดอกออกตามซอกใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีขนาดเล็ก ผลเดี่ยวรูปไข่ในแนวระนาบคล้ายพัดจีน ปลายผลมียอดเกสรเพศเมียติดคงทน ผลอ่อนสีเขียวปนเหลือง ผลแก่สีน้ำตาลเข้ม

ช่วงการมีดอก เมษายน ถึง มิถุนายน

ประโยชน์ (สรรพคุณ) ลำต้นและใบนำมาเผาให้เกิดควันไฟ รักษาฝีหนองในสัตว์เลี้ยง ผลรับประทานได้

รายละเอียดเพิ่มเติมพรรณไม้ ม.อุบล รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2548