การสำรวจและรวบรวมพันธุ์ไม้น้ำในจังหวัดอุบลราชธานี
หัวหน้าโครงการ : กาญจนา พยุหะ
รายงานนี้ได้เสนอการสำรวจและรวบรวมชนิดของพันธุ์ไม้น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจที่พบในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับใช้ในการศึกษาชีววิทยาและการขยายพันธุ์ ข้อมูลของพันธุ์ไม้น้ำประกอบด้วย ชื่อวงศ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่ออื่น ลักษณะทั่วไป การใช้ประโยชน์ และบริเวณที่พบ
ตัวอย่างพันธุ์ไม้น้ำ
เทาน้ำ
ชื่อวงศ์ : Zygnemataceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spyrogyra sp.
ชื่ออื่น : เตา (ภาษาถิ่นภาคเหนือ) เทา (ภาษาถิ่นภาคอีสาน)
ลักษณะทั่วไป : เป็นสาหร่ายสีเขียวจัดอยู่ใน Division Chlorophyta มักเกิดรวมกันอยู่เป็นกลุ่ม มีลักษณะเป็นเส้นสายยาวมากคล้ายเส้นผมสีเขียวสด จับดูจะรู้สึกลื่นมือ เนื่องจากมีเมือกหุ้มอยู่ภายนอก เซลล์จะมีรูปร่างเป็นรูปทรงกระบอก ซึ่งมีขนาดความยาวเท่ากับความกว่างหลายเท่า ผนังเซลล์มี 3 ชั้น ชั้นในและชั้นกลางเป็นพวกเซลลูโลส (cellulose) ส่วนชั้นนอกเป็นพวกเพคโตส (pectose) ภายในเซลล์มีแวคคิวโอล (vacuole) ตรงกลางอันใหญ่ มีนิวเคลียสแขวนลอยอยู่ มีสายไซโตพลาสซึมเชื่อมโยงและยึดไว้กับผนังเซลล์ คลอโรพลาสต์อาจมีตั้งแต่ 1 อัน หรือหลายอัน
การใช้ประโยชน์ นำมารับประทานได้แบบสดและทำให้สุกแล้ว โดยมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้ โปรตีน 18.63% ไขมัน 5.21% คาร์โบไฮเดรต 56.31% เส้นใย 7.66% และเถ้า 11.78%
บัวบา
ชื่อวงศ์ : Gentianaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nymphoides indica (L.) O.Kuntze
ชื่อพ้อง : Limnanthemum indicum (L.) Thwaeres.
ชื่ออื่น : water, snow, flake, ตับเต่าใหญ่
ลักษณะทั่วไป : พืชลอยน้ำที่มีอายุหลายปี ลำต้นเป็นไหลกลมเรียวยาวลอยอยู่ในน้ำ ลำต้นมีข้อปล้องชัดเจน ถ้าน้ำตื้นรากอาจจะเกิดจากข้อยึดกับพื้นดิน ส่วนข้อที่อยู่ใกล้กับผิวน้ำจะมีราก ใบ และดอก ใบเดี่ยว ก้านใบสั้น แผ่นใบเหมือนใบบัวที่ผิวน้ำ ใบกลมขอบใบเรียบหรือหยักเล็กน้อย ฐานใบหยักลึก แผ่นใบหนาสีเขียวสด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 ซม. ผิวใบล่างมีเส้นใบเป็นร่างแหชัดเจน ดอกเดี่ยวเกิดเป็นกระจุกที่ข้อของลำต้นโคนก้านใบ เส้นผ่าศูนย์กลางของดอกยาวประมาณ 5 ซม. ด้านดอกส่งดอกให้ขึ้นมาบานเหนือน้ำ ดอกสมบูรณ์เพศประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียว 5-8 กลีบ กลีบดอกสีขาวจำนวนเท่ากลีบเลี้ยง โคนกลีบเชื่อมติดกัน ขอบกลีบดอกแตกเป็นครุยละเอียด โคนดอกด้านบนเป็นสีเหลืองสด เกสรเพศผู้ 5 อัน รังไข่มีเพียง 1 ช่อง มีไข่อ่อนหลายใบ ดอกเมื่อได้รับการผสมจนเป็นผลเจริญใต้น้ำ ผลเดี่ยวแบบผลแห้งแก่แล้วแตก เมล็ดสีน้ำตาลอ่อนกลมเรียบ
การใช้ประโยชน์ : ใช้ปลูกในกระถามหรืออ่างน้ำสำหรับเป็นไม้ประดับ
รายละเอียดเพิ่มเติม : การสำรวจและรวบรวมพันธุ์ไม้น้ำในจังหวัดอุบลราชธานี รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2548