การศึกษาและรวบรวมข้อมูลลายสาน ด้วยวัสดุธรรมชาติในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 19 จังหวัด

หัวหน้าโครงการ : ศักดิ์ชาย สิกขา

ข้อมูลการสำรวจและรวบรวมลายสานที่สานจากวัสดุธรรมชาติ ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 19 จังหวัด สามารถจำแนกเป็นประเด็นดังนี้

ลักษณะวัสดุธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตงานหัตถกรรมโดยวิธีสาน จากการสำรวจพบมีหลายชนิด ดังนี้

  1. ไม้ไผ่ จะเลือกใช้พันธุ์ไผ่ตามความสามารถที่หาได้ในท้องถิ่น
  2. หวาย นิยมใช้หวายน้ำ และหวายหางหนูตามลักษณะงาน
  3. พืชตระกูลกก เช่น ผือ ไหล และกกในสายพันธุ์ต่าง ๆ
  4. ต้นธูป
  5. ต้นคล้า
  6. ผักตบชวา
  7. เถาวัลย์ นิยมใช้เครือสูด ซึ่งมีลักษณะเหมาะสมกับการใช้งาน
  8. ใบเตยหนาม

ลักษณะของผลิตภัณฑ์ การนำลายสานมาเป็นส่วนสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมในปัจจุบันอาจจำแนกเป็น 4 กลุ่มงานหัตถกรรม ดังนี้

1.งานหัตถกรรมเชิงอนุรักษ์ เป็นการใช้ลวดลายสานที่มีการสืบทอดมายาวนานตั้งแต่อดีต โดยวิธีการถ่ายทอดความรู้แบบตัวอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นจาก 2 ลักษณะ คือ 1) คนในครอบครัว เช่น ปู่ พ่อ หรือญาติ ถ่ายทอดให้ลูกหลาน 2) ความสนใจส่วนตัว โดยอาจจะเริ่มที่ความอยากรู้ หรือความจำเป็นที่ต้องการผลิตงานขึ้นเพื่อใช้เอว หลังจากนั้นอาจมีการแจกจ่ายและแลกเปลี่ยนบ้างตามความเหมาะสม งานหัตถกรรมที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ ปัจจุบันจะพบได้จากผู้สูงอายุที่มีความเชี่ยวชาญมากฝีมือจะประณีตเป็นพิเศษ ผลงานจึงเป็นสิ่งที่ควรอนุรักษ์ เนื่องจากเริ่มจะสูญหายและไม่มีผู้สืบทอด

2. งานหัตถกรรมเพื่อใช้สอยในครัวเรือน เป็นการผลิตงานจักสาน เพื่อใช้ครอบครัวไม่ได้มุ่งเน้นในการจำหน่ายลักษณะงานจะมีความเรียบง่าย มีการดัดแปลงใช้วัสดุอื่น ร่วมบ้างตามความเหมาะสม และความสะดวกในการผลิตไม่ได้เน้นที่ความสวยงาม แต่มองที่ประโยชน์ใช้สอยเป็นหลักด้วยจะพบได้จากผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่มีการใช้ในปัจจุบัน เช่น กระติบข้าวเหนียว หวด/มวย นึ่งข้าวเหนียว อุปกรณ์ดักปลาประเภทตุ้ม ไซ ลอบ และอื่น ๆ

weaving2

3. งานหัตถกรรมเชิงพาณิชย์ เป็นงานจักสานที่ผลิตขึ้นเพื่อมุ่งกำไร ดังปรากฏให้เห็นตามแหล่งชุมชนต่าง ๆ ลักษณะของงานเป็นไปตามกระแสตลาด มีการดัดแปลงวัสดุ ให้สวยงามขึ้น มีความแปลกใหม่ทั้งด้านรูป และลวดลาย เน้นการผลิตในปริมาณที่มากและมีความรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่จะขึ้นทะเบียนสินค้าในกลุ่ม OTOP ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากภาครัฐ

4. งานหัตถกรรมระดับสากล เป็นงานสานที่มุ่งเน้นลูกค้าระดับสูง โดยพัฒนาคุณภาพของงานสานให้มีรูปแบบ และกระบวนการผลิตที่ดีมีความละเอียด ประณีตยิ่งขึ้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ จะต้องมีการอบรมหรือจัดกระบวนการเรียนรู้เป็นพิเศษ ผลงานที่ได้ต้องมีความงาม การให้สีเหมาะสม รูปแบบเหมาะกับการใช้งาน

ลักษณะเส้นตอก

เส้นตอกที่ใช้ในการสานจะมีกรรมวิธีในการผลิตแตกต่างกันทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเหตุผล 2 ประการ คือ วัสดุคืออะไร และต้องการสานเป็นผลิตภัณฑ์อะไร ดังนั้น ในบางครั้งจะมีเส้นตอกอยู่ 2 ลักษณะ ในงานชิ้นเดียวกัน คือ 1) เส้นตอกกลม 2) เส้นตอกแบน สำหรับเส้นตอกกลมอาจได้มาจากการเหลาด้วยมีดตอกหรือการใช้วิธีรูดผ่านผากระป๋องที่เป็นโลหะ และมีการเจาะรูไว้ต่างขนาดเพื่อรูดทำให้เส้นตอกเล็กลงตามลำดับที่ต้องการแต่หากเป็นตอกแบบอาจใช้วิธีเหลาหรือรูดผ่านใบมีดหรือใบกบที่วางทำมุมบนแผ่นไม้ก็ได้ แต่หากเป็นวัสดุธรรมชาติอื่นที่มีลักษณะอ่อนตัว เช่น ผือ กก จำเป็นต้องนพมารีดผ่านเครื่องรีดเส้นก่อน จะทำให้ผิวเรียบสามารถนำมาสานได้ง่าย สำหรับการย้อมเส้นตอกเพื่อทำให้เกิดลายสานที่มีความงานเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ และความต้องการของลูกค้า ปัจจุบันนิยมทั้ง 2 วิธี คือ ย้อมจากสีเคมีและย้อมจากสีธรรมชาติ

weaving3

ลายสานที่พบมากในภาคอีสาน ได้แก่ ลายขัดแตะ ลายซ้าย-ขวา ลายสอง ลายสาม ลาวเฉลวห้าหรือลายตาแหลว ลายเฉลวหกหรือลายตาแหลว ลายข้างกระแตะ (สองนอน และสองยืน) ลายผิดถูกหรือลายขัดหนึ่งสอง-สองสาม ลายหัวสุ่ม ลายขัดทแยงตามตั้งหรือลายยืน ลายก้นหอย

weaving4 weaving

รายละเอียดเพิ่มเติม : การศึกษาและรวบรวมข้อมูลลายสาน ด้วยวัสดุธรรมชาติในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 19 จังหวัด รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2547