บูรณาการของงานวิศวกรรมโยธาในการบูรณะฟื้นฟูโบราณสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
หัวหน้าโครงการ : ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
แหล่งประวัติศาสตร์ และโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จากหลักฐานปรากฏ เชื่อว่าแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเป็นมายาวนานพอ ๆ กับกำเนิดของยุคก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เดิมเชื่อกันว่า บรรพบุรุษที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าประเทศไทยนี้อพยพมาจากที่อื่น เช่น ทางตอนบนจากประเทศจีน ภายหลังจากที่ได้พบหลักฐานที่ปรากฏในหลุมขุดค้นแหล่งประวัติศาสตร์บ้านเชียง ทำให้ข้อสันนิษฐานเดิมถูกลบล้างไปสิ้น บ้านเชียงเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งค้นพบว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นที่ฝังศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะเมื่อราว 3000 – 3500 กว่าปีมาแล้ว มีความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีสูงมาตั้งแต่โบราณ ชาวบ้านเชียงโบราณเป็นชุมชนยุคโลหะที่รู้จักทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ นิยมเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับจากสำริดในระยะแรก และรู้จักใช้เหล็กในระยะต่อมาแต่ก็ยังคงใช้สำริดควบคู่กันไป ชาวบ้านเชียงรู้จักทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นภาชนะสีเทาทำเป็นลายขูดขีด ลายเชือกทาบ และขัดมัน รู้จักทำภาชนะดินเผาลายเขียนสีรูปทรงและลวดลายต่าง ๆ มากมาย นักโบราณคดีบางท่านให้ความเห็นว่า เครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีที่บ้านเชียงเก่าแก่ที่สุดในทวีปเอเชียอาคเนย์ และอาจจะเก่าแก่ที่สุดในโลกก็เป็นได้ นอกจากนั้นชาวบ้านเชียงโบราณยังรู้จักทำเครื่องจักสาน ทอผ้า มีประเพณีการฝังศพ ฝังสิ่งของเครื่องใช้ อาหาร รวมกับศพเป็นการอุทิศให้กับผู้ตาย สิ่งของที่เป็นโบราณวัตถุ ซึ่งได้จากการสำรวจรวบรวมและขุดค้นที่บ้านเชียงรวมแหล่งใกล้เคียง เช่น ขวาน ใบหอก มีด ภาชนะดินเผา ทั้งที่เขียนสีและไม่เขียนสี และดินเผา แม่พิมพ์หินใช้หล่อเครื่องมือสำริดทำจากหินทราย เบ้าดินทราย รูปสัตว์ดินเผา ลูกปัดทำจากหินสี แก้วกำไล และแหวนสำริด ลูกกระสุนดินเผา ขวาน หินดิน และได้พบเศษผ้าที่ติดอยู่กับเครื่องมือสำริด แกลบข้าวที่ติดอยู่กับเครื่องมือเหล็ก เป็นต้น
ชนชาวบ้านเชียงในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นชุมชนเกษตรกรรมยุคโลหะมีความเจริญก้าวหน้ามานานแล้ว สามารถแบ่งลำดับขั้น วัฒนธรรมสังคมเกษตรกรรมที่บ้านเชียงออกเป็น 6 สมัย โดยกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์วิธีคาร์บอน 14 ว่าวัฒนธรรมสมัยที่ 1 หรือชั้นดินล่างสุดของบ้านเชียงมีอายุประมาณ 5600 ปีมาแล้ว จากการวิเคราะห์กระดูกสัตว์และเปลือกหอยทำให้มีความคิดว่า คนก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงในระยะแรกได้เลือกตั้งถิ่นฐานในบริเวณป่าที่ถูกถางมีการเลี้ยงสัตว์ และล่าสัตว์ด้วย พอถึงสมัยที่ 4 เมื่อราว 3600 ปีมาแล้ว รู้จักใช้เครื่องมือเหล็กเลี้ยงควายเพื่อช่วยในการทำนา ในสมัยที่ 5 เมื่อราว 3000 ปีมาแล้ว มีการทำภาชนะดินเผาลายเขียนสีลงลายและรูปทรงหลายแบบ พอถึงสมัยที่ 6 จึงทำแต่ภาชนะดินเผาเคลือบสีแดงหรือเขียนสีบนพื้นแดงทำเครื่องประดับที่มีส่วนผสมของโลหะที่มีความวาวมากขึ้น กำหนดอายุได้ราว 1700 ปีมาแล้ว จากการค้นพบแกลบข้าวที่ติดอยู่กับเครื่องมือเหล็ก การค้นพบเครื่องมือสำริด แม่พิมพ์สำริด เครื่องมือสำริด เบ้าดินเผาทำให้สามารถกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมบ้านเชียงมีความเจริญก้าวหน้าสูง รู้จักการใช้โลหะกรรมหล่อหลอมสำริดและปลูกข้าวที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไม่น้อยกว่า 5000 ปีมาแล้ว มีความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรมไม่เท่าเทียมกันทั้งประเทศ กล่าวคือ ขณะที่พวกที่อาศัยอยู่ทางแควน้อย และแควใหญ่ของจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อ 3700 ปี ใช้หินเป็นเครื่องมือและใช้หินกระดูกสัตว์และเปลือกหอยเป็นเครื่องประดับนั้น พวกที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศมีความเจริญรุดหน้ากว่ารู้จักใช้สำริดมาทำเป็นเครื่องประดับ และรู้จักใช้เหล็กทำเป็นเครื่องมือ ความเจริญทางวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบว่า การใช้สำริดทำกันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยก่อนแหล่งอื่นของโลกภาคตะวันออก คือ ประมาณ 2500 ปีก่อนคริสตศักราช คือประมาณ 4472 ปีมาแล้ว ใกล้เคียงกับเวลาที่ใกล้ที่สุดที่อาจเป็นไปได้ที่บ้านเชียง
รายละเอียดเพิ่มเติม : บูรณาการของงานวิศวกรรมโยธาในการบูรณะฟื้นฟูโบราณสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ปี 2547