การศึกษาความหลากหลายของพืชในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

หัวหน้าโครงการ: แก้ว อุดมศิริชาคร

ในการสำรวจพื้นที่ป่าของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พบว่า พื้นที่ป่ามีลักษณะเป็นสังคมป่าเหล่าหรือป่าไสใหม่ พรรณไม้ที่พบส่วนใหญ่จะเป็นพรรณไม้เบิกนำขึ้นปะปนกับพรรณไม้ดั้งเดิม ดังนั้น จึงสันนิษฐานได้ว่าพื้นที่ป่าในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประกอบด้วย ป่าไม้ 3 ประเภท ได้แก่ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ และมีสภาพป่าที่กำลังเริ่มฟื้นตัวกลับคืนสู่สังคมป่าดั้งเดิม

plant4

จากการศึกษาความหลากหลายของพรรณไม้ดั้งเดิมประเภทไม้ต้น ไม้พุ่ม และไม้เลื้อยที่มีเนื้อไม้ สามารถเก็บรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้ รวมทั้งสิ้น 300 หมายเลข ได้ทำการตรวจสอบเอกลักษณ์ของพรรณไม้ตามหลักอนุกรมวิธานและตรวจสอบชื่อวิทยาศาสตร์ถึงระดับชนิด พบว่ามีพรรณไม้ทั้งหมด 45 วงศ์ 90 สกุล 100 ชนิด จำแนกเป็น 2 กลุ่ม  ได้แก่ กลุ่มพืชเมล็ดเปลือย 1 วงศ์ 1 สกุล 1 ชนิด และกลุ่มพืชมีดอกประเภทพืชใบเลี้ยงคู่ 44 วงศ์ 89 สกุล 99 ชนิด พรรณไม้ที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ วงศ์ Leguminosae วงศ์ Rubiaceae และวงศ์ Dipterocarpaceae ตามลำดับ

ตัวอย่างพรรณพืชในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

plant

รักใหญ่ น้ำเกลี้ยง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Gluta usitata (Wall.) Ding Hou

วงศ์ Anacardiaceae

ไม้ต้นสูง 10-25 เมตร เปลือกสีน้ำตาล แตกเป็นสะเก็ดเป็นร่องตามยาว มีน้ำยางใสเมื่อแห้งเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองและแพ้ได้ ใบเดี่ยว เรียงแบบสลับเวียน รูปไข่กลับหรือรูปขอบขนาน กว้าง 5-10 ซม. ยาว 12-20 ซม. ปลายใบมนมีติ่งแหลม ฐานใบสอบแหลม ขอบใบเรียบเป็นหยักคลื่น ใบออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ผิวใบด้านบนและด้านล่างมีจนปกคลุม แต่ด้านล่างมีหนาแน่นกว่า ดอกช่อออกที่ปลายกิ่งมีขนปกคลุมแน่น กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลืองนวล เกสรเพศผู้มี 20-30 อัน ผลรูปทรงกลมแข็งมาก มีส่วนของกลีบดอกขยายเป็นปีกสีแดง 5 ปีก

ช่วงการมีดอก ธันวาคม ถึง มกราคม

plant2

นมน้อย ต้องแล่ง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyathia evecta (Pierre) Finet & Gagnep.

วงศ์ Annonaceae

ไม้พุ่ม สูง 0.5-1 เมตร เปลือกเรียบสีน้ำตาล ใบเดี่ยว เรียงแบบสลับ รูปขอบขนานหรือรูปรี กว้าง 2-5 ซม. ยาว 5-10 ซม. ปลายใบสอบแหลม ฐานใบสอบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบ ดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ ไม่มีกลับเลี้ยง กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง ผลกลุ่ม ผลรูปทรงกลมสีน้ำตาลปนแดง

ช่วงการมีดอก มิถุนายน ถึง สิงหาคม

รายละเอียดเพิ่มเติม : การศึกษาความหลากหลายของพืชในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2548