เขียนภาพด้วยแสง เล่าเรื่องลุ่มน้ำโขง
หัวหน้าโครงการ :ประทับใจ สิกขา
โครงการรวบรวมข้อมูลและภาพถ่ายลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 2 การบันทึกเรื่องราวอารยธรรม เช่น สถาปัตยกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ แถบลุ่มน้ำโขงด้วยภาพถ่าย ตามสถานที่ต่าง ๆ อันได้แก่ พระเหลาเทพนิมิต พุทธอุทยาน วัดถ้ำแสงเพชร อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
ส่วนหนึ่งของรายงานได้เล่าถึง การฟ้อนไทฟู ซึ่งเป็นการฟ้อนแบบดั้งเดิมของชาวเขมราฐเพื่อใช้ในการบวงสรวงผีฟ้า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ผีกะไท้” ในวันเพ็ญเดือนสามของทุก ๆ ปี บางครั้งจะเรียกการฟ้อนลักษณะนี้ว่า “การฟ้อนลงข่วง” โดยมีความเชื่อว่า ผีฟ้า หรือ ผีกะไท้ มีส่วนช่วยในการปกปักรักษาให้เรามีความอยู่เย็นเป็นสุข และหายจากอาการเจ็บป่วย หรือ ญาติของผู้เจ็บป่วยได้บนบานเอาไว้ นอกจากนั้นแล้วยังมีการเสี่ยงทายอาการเจ็บป่วย โดยการตั้งขันธ์ 5 หากคนไหนที่ผีฟ้าต้องการให้อยู่ด้วยไข่ก็จะตั้งขึ้น การฟ้อนจะมี 3 ช่วงจังหวะ ดังนี้
- จังหวะแรก ฟ้อนเพื่ออัญเชิญผีฟ้าลงมาจากสวรรค์
- จังหวะที่สอง ฟ้อนเพื่อเป็นการร่วมแสดงความยินดี หรือแสดงความดีใจของผีฟ้า ร่วมกับผู้ที่หายจากการป่วย โดยผีฟ้าจะสิงสถิตอยู่ภายในร่างของมนุษย์
- จังหวะที่สาม ฟ้อนเพื่อเป็นการนำส่งผีฟ้ากลับขึ้นสู่สรวงสรรค์
ตำนานเกี่ยวกับกำเนิดหมอลำผีกะไท้ มีอยู่ว่า เมื่อครั้งปฐมกัปป์ พระยาแถนผู้เป็นใหญ่บนสวรรค์ได้ส่งลูกหลายมาเกิดในเมืองมนุษย์ ครั้งอยู่ต่อ ๆ มา มีความเจ็บป่วยไข้ขึ้น ไม่มียารักษา จึงไต่เถาวัลย์ที่เรียกว่า เครือเขากาด ขึ้นไปกราบทูลพระยาแถน พระยาแถนบอกว่า หากมีใครเจ็บป่วยจงแต่งเครื่องบูชา ซึ่งประกอบด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน ที่เรียกว่า ขันธ์ 5 เพื่อบอกกล่าวระลึกถึงพระยาแถน และปู่ย่าตายาย โดยพูดด้วยถ้อยคำที่งดงาม ด้วยท่วงทำนองที่ไพเราะ เมื่อพระยาแถนทราบจะลงมาช่วยรักษาจากความเชื่อในเรื่องนี้เอง ทำให้เกิดการลำเพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เรียกกันว่า ลำส่อง ลำผีกะไท้ ลำผีแถน การเรียกนั้นแล้วแต่พื้นที่ หากเป็นชาวภูไท จะเรียกการลำเพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บว่า การเหยา หรือ การเยา ว่ากันว่า การลำเพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นก่อนการลำเพื่อความบันเทิง การลำผีฟ้า หรือมูลเหตุแห่งการลำประเภทนี้เกิดจากความเชื่อของชาวอีสานว่า คนเรานั้นฟ้าให้มาเกิด เมื่อเกิดแล้วจะสุขหรือทุกข์ ผิดหวังหรือ สมหวังขึ้นอยู่อำนาจของฟ้า สุดแต่ฟ้าจะบันดาล ดังคำกล่าวว่า “คาดแต่แถน แนนแต่ฟ้า แสนสิเว้นกะบ่กลาย” หมายถึง “แล้วแต่ลิขิตของฟ้าไม่มีใครจะหลีกได้” เมื่อเจ็บป่วยไข้ หมดหนทางรักษาจึงมีพิธีลำส่องหรือลำทรง ลำผีกะไท้ ลำผีฟ้า สุดแต่ว่าท้องถิ่นนั้น ๆ จะอัญเชิญลงมารักษา พิธีกรรมจะเริ่มด้วยหมอลำผีกะไท้ตั้งเครื่องเซ่นสรวงบูชาพระยาแถน หรือผีฟ้า เครื่องเซ่น เรียกว่า คาย ประกอบด้วย กรวยใส่ดอกไม้ 5-8 อัน ธูปเทียนอย่างละ 5 เล่ม เงินค่ายกครู 1.50 บาท เหล้าขาว 1 ขวด ไข่ไก่ 1 ฟอง แพรวาผ้าซิ่น อย่างละ 1 ผืน เมื่อหมอลำตั้งเครื่องบูชาผีเสร็จแล้วจะนั่งคุกเข่าลงตรงหน้าเครื่องบูชา กราบลงพนมมือกล่าวคำอ้อนวอน คำปลอบประโลมให้ผีฟ้าลงมา ดังตัวอย่าง “เชิญเด้อ เชิญเด้อ เชิญเจ้าลงมาเล่นสนามเพียงเบื้องกว้าง ครั้นเดือนดับให้เจ้าขี้ม้าผายมาเด้อ ครั้นเดือนหงายงาบ ๆ ให้เจ้าขี่ม้าดำมาเด้อ อ้ายข้อยเอย หม่อมผู้ดีเอย” ในการลำผีฟ้า ลำผีกะไท้ หรือลำผีแถนนั้น สิ่งที่จะขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ หมอแคน จะต้องเป่าคู่กับการลำ ทั้งรับทั้งส่งในระหว่างการลำ หมอลำผีกะไท้จะลุกขึ้นฟ้อนไปมารอบ ๆ ผู้ป่วย เมื่อผีลงมาเข้าร่างแล้ว การฟ้อนจะมีลีลาที่รวดเร็ว สนุกสนาน ดอกไม้ที่ใช้บูชาจะเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมรุนแรงที่นิยมใช้กัน คือ ดอกจำปา (ลั่นทม) บรรดาญาติพี่น้องคนป่วยจะซักถามสาเหตุแห่งความเจ็บป่วยอย่างอ่อนน้อม สาเหตุของการเจ็บป่วย ผีฟ้า ที่พบบ่อยที่สุดคือ การทำผิดฮีตผิดคอง
รายละเอียดเพิ่มเติม : เขียนภาพด้วยแสง…เล่าเรื่องลุ่มน้ำโขง โครงการรวบรวมข้อมูลและภาพถ่ายลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 2 รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2541